ไข้หรือตัวร้อน
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ไข้หรือตัวร้อนในเด็กไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นอาการของโรค คำจำกัดความของไข้แบ่งตามอายุได้ดังนี้
- ในทารกวัย 4 สัปดาห์แรกหลังเกิด หมายถึง อุณหภูมิกายแกนกลางร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- ในทารกพ้นวัย 1 เดือน มีความแตกต่างของคำจำกัดความ ที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรคืออุณหภูมิเท่ากับหรือสูงกว่า 38.0 องศาเซลเซียส (เอกสารในบรรณานุกรม)
การวัดอุณหภูมิ อุณหภูมิที่ใช้ต้องเป็นอุณหภูมิแกนกลางร่างกาย ได้แก่อุณหภูมิที่วัดทางปากหรือทวารหนัก เด็กอายุมากกว่า 4 ปีให้วัดทางปาก ถ้าไม่ร่วมมือ ให้วัดทางรักแร้ด้วยปรอทแก้วหรือดิจิตัล ค่าที่วัดจะเชื่อถือได้เมื่อวัดนานจนเสียงสัญญาณครั้งที่ 2 ดัง ซึ่งใช้เวลาวัดอุณหภูมิรักแร้นานประมาณ 9 นาที ค่าที่ได้จะเท่ากับการวัดอุณหภูมิแกนกลางร่างกาย ค่าที่อ่านเมื่อเสียงสัญญาณแรกดังจะสูงกว่าความเป็นจริง (ค่าที่อ่านเมื่อเสียงสัญญาณครั้งที่ 2 ดัง) การวัดด้วยวิธีอื่น เช่น การวัดที่หู หรือหน้าผาก เป็นวิธีที่ไม่แม่นยำ
ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เวลามีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น ในสังคมไทยมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า การที่ศีรษะร้อนแต่เย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหมายถึงว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและก่อความทุกข์ใจให้แก่คนเชื่อมาก
สาเหตุของไข้ ไข้เป็นอาการอย่างหนึ่งของการเจ็บป่วย เกิดจากสาเหตุมากมาย และระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคจะยาวนานต่างกัน ตัวอย่างโรคที่เป็นสาเหตุของไข้ที่พบบ่อย
|
โรคหวัด |
ไข้หวัดใหญ่ |
การปรากฏอาการ |
ช้า ๆ (gradual) |
ฉับพลัน (abrupt) |
อาการไข้ |
ไข้ไม่สูง (<38.3 องศาเซลเซียส ) |
ไข้สูง (>38.3 องศาเซลเซียส) |
ปวดเมื่อย (aches) |
มีอาการน้อย |
มีทุกราย |
รู้สึกหนาว (chill) |
พบได้น้อย |
พบได้บ่อย |
รู้สึกเพลีย ล้า (fatique) |
พบได้น้อย |
มีทุกราย |
จาม |
พบบ่อย |
พบน้อยราย |
คัดจมูก |
พบบ่อย |
พบน้อยราย |
เจ็บคอ |
พบบ่อย |
พบน้อยราย |
ปวดศีรษะ |
พบน้อยมาก |
พบบ่อย |
1. โรคหวัด (cold) มีไข้ไม่สูงหรือไม่มี อาการไข้จะมีราว 3-4 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัส อักเสบ หรือปอดบวม
2. ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง (น้อยรายไม่มีไข้) ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนขา อาการไข้ปรากฏอยู่ 4-5 วัน ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและพบบ่อยคือปอดอักเสบ
3. ไข้เลือดออก ไข้สูง ร่วมกับอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ชายโครงข้างขวา จุดเลือดออกที่ผิวหนัง บางคนจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจาระสีดำเหมือนน้ำมันดิน และเมื่อไข้เริ่มลดลง (ประมาณ 3-7 วัน หลังปรากฎอาการป่วย) อาจเกิดภาวะช็อค
4. ปอดอักเสบหรือปอดบวม มีอาการของโรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ นำมาก่อน ต่อมามีอาการไข้สูงขึ้น หรือไข้ยังสูงต่อเนื่อง ไอมากขึ้น และหายใจเร็วกว่าปรกติ (ในทารกแรกเกิดอัตราหายใจเกิน 60/นาที) หายใจหอบ (รูจมูกบาน ช่องซี่โครงบุ๋ม เป็นต้น) เบื่ออาหาร ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือด ช่วยให้ได้น้ำและอาหารทดแทนที่ได้ทางปากไม่เพียงพอ และต้องให้ออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะเลือดขาดออกซิเจน และยาต้านจุลชีพหรือต้านไวรัส
จากตัวอย่างที่กล่าวมา คุณแม่คุณพ่อจะเห็นว่า ไข้หรือตัวร้อนเป็นเพียงอาการของโรคอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว เมื่อบุตรของท่านมีไข้หรือตัวร้อน ท่านจะได้ไม่วิตกเรื่องไข้ แต่ควรวิตกว่า โรคอะไรที่ทำให้บุตรของท่านมีไข้ ถ้ามีสาเหตุจากโรคหวัด ท่านก็ไม่ควรวิตกเพราะปรกติมักไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ และไข้จะหายใน 3-4 วัน ถ้าเกิดจากไข้หวัดใหญ่ ความเสี่ยงต่อปอดอักเสบจะสูง และถ้าเกิดจากไข้เลือดออก ท่านควรวิตก เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมายและอาจถึงชีวิตได้
ยาลดไข้
ยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ กล่าวคือ เมื่อกินยา 1 ครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง ถ้าสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่ ท่านก็ค่อยให้ยาใหม่ ถ้าบุตรของท่านมีไข้ไม่สูง มีเพียงศีรษะอุ่น ไม่กวน หรือกระวนกระวาย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ เพราะยาลดไข้เป็นเพียงยาระงับหรือบรรเทาไข้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
ยาลดไข้ ยาลดไข้ไม่ใช่ยาที่ปราศจากโทษ ยาที่ใช้มี 2 ชนิดคือ
1. พาราเซทามอล หรือ อะเซทามิโนเฟน
ขนาดยาที่ใช้ 10 มก./กก./มื้อ ซ้ำได้ทุก 4 ชม. เมื่อกลับมีไข้อีก
ยาปรุงสำเร็จ ชนิดหยด 1 มล. มีตัวยา 100 มก.
ชนิดน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา (5 มล.) มีตัวยา 120, 250 มก.
ชนิดเม็ด 1 เม็ด มีตัวยา 325, 500 มก.
พิษของยา ขนาดสูงเกิน ทำให้ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เสียชีวิตจากตับล้มเหลว?
2. Ibuprofen มักใช้เมื่อให้พาราเซทามอลแล้ว 30-45 นาทีแล้วไข้ไม่ลดลง
ขนาดยาที่ใช้ 10 มก./กก./มื้อ ซ้ำได้ทุก 6 ชม. เมื่อกลับมีไข้อีก
ยาปรุงสำเร็จ
ชนิดแขวนตระกอน (suspension) 1 ช้อนชา (5 มล.) มีตัวยา 100 มก.
ชนิดเม็ด 1 เม็ด มีตัวยา 200, 400 มก.
ฉะนั้น ท่านจึงควรให้ยาลดไข้เมื่อเด็กมีอุณหภูมิกายถึงเกณฑ์ของไข้เท่านั้น (กุมารแพทย์ในสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ยาลดไข้เมื่ออุณหภูมิเกิน 38.3 องศาเซลเซียส หรือกระวนกระวาย ไม่สุขสบายตัว และให้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่าทุก 4 ชั่วโมงเมื่อให้พาราเซทามอล และทุก 6 ชั่วโมงเมื่อให้ Ibuprofen ถ้าให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้เด็กดื่มน้ำเพิ่ม เพื่อแก้ร่างกายขาดน้ำ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำประปาจนกว่าไข้จะลด ท่านไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีของการมีไข้ ถ้าเด็กยังคุย เล่น หรือดูทีวีได้ ท่านเพียงให้ยาลดไข้ เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้ามีไข้สูง แล้วให้ยาลดไข้ และการเช็ดตัว หรือมีไข้นาน 48-72 ชม. แล้ว อาการไข้ยังไม่ทุเลา ร่วมกับไม่คุย ไม่เล่น ไม่ดูทีวี จึงควรพาไปพบแพทย์ ไข้จะหายเองเมื่อถึงกำหนดระยะของโรค แม้ไปพบแพทย์เร็วก็ไม่ได้ช่วยให้หายไข้เร็วขึ้น
อาการแทรกซ้อน
อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวังคือ การชักจากไข้สูง ซึ่งพบในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือ มีประวัติชักในครอบครัวเมื่อไข้สูง ต้องระวังการมีไข้เป็นพิเศษ โดยรีบให้ยาลดไข้ และรีบเช็คตัว ขณะรอยาแก้ไข้ออกฤทธิ์ (กินเวลา 30-45 นาที) ต้องไม่รอจนไข้ขึ้นสูง
สิ่งที่ต้องตระหนัก
ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้ไข้หาย แต่มักก่อปัญหาจากฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยา เช่น อาเจียน ท้องเสีย และการดื้อยา ยาปฏิชีวนะใช้เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม (เช่นหูหรือไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย)
ขณะมีไข้สูง เด็กจะกินอาหารได้น้อยลง ทำให้มีกากอาหารในลำไส้น้อย มีผลทำให้ไม่ถ่ายอุจจาระ ในสังคมไทยมีความเชื่อว่า ถ้าเด็กไม่ถ่ายอุจจาระจะทำให้ไข้ยิ่งสูง ความเชื่อนี้ต้องการการแก้ไข ท่านไม่ควรใช้วิธีการใดๆ ทำให้เด็กถ่าย
บรรณานุกรม
UpToDate. Patient education: Fever in children (Beyond the Basics). 2020. Cited 20 May 2020. Available from: Author: https://www.uptodate.com/contents/fever-in-children-beyond-the-basic.
Sullivan JE, Farrar HC, the Section on Clinical Pharmacology and Therapeutics and Committee on Drugs.
Fever and Antipyretic Use in Children. Pediatrics 2011;127 (3): 580-587; DOI: https://doi.org/10.1542/peds.2010-3852