การดูแลและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจเด็ก

การดูแลและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจเด็ก

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ
         
1.  เลี้ยงไม่โต  โรคหัวใจบางโรค จะมีผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้าโดยเฉพาะในรายที่มีหัวใจผิดปกติรุนแรง เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก และเด็กมีอาการเหนื่อยหอบ ร่างกายจึงต้องการพลังงานมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้กินได้น้อย อาการจะมากยิ่งขึ้นเมื่อเจ็บป่วย จึงมีผลต่อการเจริญเติบโต ช่วยได้โดยการให้ยาตามที่แพทย์กำหนด และให้อาหารที่มีคุณภาพครบ 5 หมู่ และปริมาณที่เพียงพอในเด็กเล็กควรให้ดูดนมบ่อยครั้งขึ้น ถ้ายังมีปัญหาควรพาเด็กมาพบแพทย์ก่อนกำหนด
            2.  อาการเหนื่อยง่าย  เด็กโรคหัวใจที่มีความผิดปกติมากจะมีอาการเหนื่อยหอบโดยจะสังเกตได้จาก หายใจเร็วจมูกบาน หน้าอกบุ๋ม หรือชายโครงบุ๋ม ในเด็กเล็กขณะดูดนม จะต้องหยุดพักเหนื่อย ใช้เวลาดูดนมนาน ในเด็กโตจะเล่นและเหนื่อยง่ายกว่าเพื่อน ๆ ซึ่งจะเป็นอาการแสดงภาวะหัวใจวาย ช่วยได้โดยจำกัดการออกกำลังกายไม่ให้มากเกินไป งดอาหารเค็ม และพามาตรวจรักษาและขอคำแนะนำเพื่อแพทย์จะได้ให้ยาช่วยการทำงานของหัวใจ หรือปรับยาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
            3.  อาการเขียว เกิดจากการที่มีออกซิเจนในเลือดแดงต่ำกว่าปกติ จะพบในเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว จะสังเกตได้จาก ริมฝีปาก ลิ้น เล็บมือ เล็บเท้า โดยทั่วไปมักจะเขียวมากขึ้นเวลาร้องหรือเหนื่อย ถ้าเด็กมีอาการเขียวขึ้นมากร่วมกับมีอาการเหนื่อยขึ้น ควรรีบพามาพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด
            4.  อาการเขียวมากขึ้นจนเป็นลมหรือหมดสติ (hypoxic spell) เป็นภาวะที่เกิดจากการที่มีอาการเขียวเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างรวดเร็ว บางรายมีอาการนิ่งตัวอ่อน หายใจหอบลึกและอาจเป็นลมหมดสติ มักเกิดในเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว โดยเฉพาะในอายุ 2 ปีแรก โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นเอง แต่เกิดได้มากขึ้นขณะเบ่งถ่ายอุจจาระหรือร้องไห้ ป้องกันได้โดยพยายามไม่ให้ท้องผูก ไม่ควรให้เด็กกลุ่มนี้ร้องไห้นานถ้าเกิดขึ้นแล้วควรแก้ไขเบื้องต้น โดยจัดเด็กให้อยู่ในท่านอนคู้ตัวเอาเข่าชิดหน้าอก และปลอบให้สงบ เด็กมักจะดีขึ้นเองภายในเวลา 5-10 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
            5.  อาการทางสมอง เด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดเขียว อาจมีอาการผิดปกติทางสมองได้ เนื่องจากภาวะเขียว ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้นและจับตัวเป็นก้อนง่ายขึ้น เกิดการอุดตันหลอดเลือดในสมองได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ในกรณีที่มีฟันผุหรือมีแหล่งเชื้อโรคในร่างกาย เชื้อโรคจะผ่านเข้าไปในกระแสเลือด โดยไม่ผ่านการกรองในปอดและไปสู่สมอง ทำให้เกิดเป็นฝีในสมองได้ง่าย ซึ่งมักพบในเด็กโตที่มีอายุมากกว่า 2 ปี เด็กจะมีอาการไข้ ปวดศรีษะ อาจมีอาเจียน แขนขาอ่อนแรงได้ สามารถป้องกันได้โดยคอยป้องกันและรักษาการติดเชื้อ โดยเฉพาะในช่องปากและฟัน และแจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ทราบว่าเป็นโรคหัวใจก่อนการทำหัตถการใด ๆ ที่ทำให้มีเลือดออก และต้องให้ยาแก้อักเสบก่อนทำหัตถการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดทุกครั้ง
            6.  การติดเชื้อที่หัวใจ เป็นการติดเชื้อภายในหัวใจที่มีความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น เป็นหนอง ฝี หรือฟันผุ เชื้อโรคจะเข้าสู่กระแสเลือด เข้าไปเกาะติดอยู่ในบริเวณที่มีการไหลเวียนผิดปกติในหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น จะมีอาการไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร สามารถช่วยป้องกันได้โดยพาเด็กไปตรวจเช็คฟันเป็นระยะ ๆ และแจ้งให้ทันตแพทย์หรือแพทย์ทราบทุกครั้งก่อนทำหัตถการที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด เพื่อจะได้ให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันก่อนการทำหัตถการดังกล่าวทุกครั้ง
            7.  การเกิดความดันเลือดในปอดสูง ในเด็กโรคหัวใจชนิดที่มีเลือดไปปอดมากกว่าปกติ และเป็นเวลานานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังของหลอดเลือดในปอดโดยมีการหนาตัวขึ้น และมีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ความดันเลือดในปอดสูงอย่างถาวร เด็กจะมีอาการเขียว และจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หอบเหนื่อย และเป็นลมหมดสติได้ ควรพาเด็กมาตรวจตามที่แพทย์นัด เพื่อจะได้รับการผ่าตัดรักษาในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะเกิดภาวะความดันในปอดสูงจนแก้ไขไม่ได้ดังกล่าวแล้ว
            8.  อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วมาก หรือช้ามาก หรือเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ อาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจอื่น ๆ ในเด็กโตจะมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หน้ามืด เป็นลมได้ ในเด็กเล็กจะมีอาการซึม หรือร้องกวนผิดปกติ ไม่ดูดนม หายใจเร็วมือเท้าเย็นซีด ควรพามาพบแพทย์ทันที
            9.  การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะชนิดที่มีเลือดไปปอดเพิ่มขึ้น มักพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดชื้นหรือปอดอักเสบได้บ่อยขึ้น และอาจพบมีอาการตีบของหลอดลมร่วมด้วย เด็กจะมีอาการไข้สูง ไอมาก และหายใจหอบ ช่วยป้องกันได้โดยไม่ควรพาเด็กเล็กไปเที่ยวนอกบ้าน และป้องกันการติดเชื้อจากคนรอบข้างที่ป่วย หากเด็กมีอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
            เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจจะมีโอกาสเกิดภาวะต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของโรคหัวใจที่เป็นอยู่ อายุ เป็นต้น

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด