โรคไอเรื้อรังในเด็ก (ตอนที่ 1)
โรคไอเรื้อรังในเด็ก (ตอนที่ 1)
ผศ.นพ.จักรพันธ์ สุศิวะ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
1. ลักษณะใดจึงจะเรียกว่าเป็นการไอเรื้อรัง
ตอบ. การไอเป็นกลไกทางร่างกายอันหนึ่งในการป้องกันตนเองหรือกำจัดสิ่งแปลกปลอมของตนเองที่เกิดขึ้น และพยายามรักษาตนเองให้แข็งแรง ให้หายใจได้สะดวก กำจัดเสมหะ แต่ว่าถ้ามันเกิดขึ้นนาน โดยเฉพาะที่เรียกว่า "ไอเรื้อรัง" ไอเรื้อรังหมายความว่า มีอาการไอต่อเนื่องยาวนานถึง 1 เดือน ขึ้นไป ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้เด็กไอนานถึง 1 เดือนนี้ ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างนานมาก ก็คงจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์หรือต้องมาทำการศึกษากันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง
2. สาเหตุของการไอ เกิดจากอะไรได้บ้าง
ตอบ. โดยทั่วไปของอาการไอ อย่างที่เรียกว่ามันเป็นกลไกของร่างกายในการพยายามรักษาตัวเองให้หายใจได้สะดวก หรือ กำจัดสิ่งแปลกปลอม เพราะฉะนั้นเวลาเราเป็นหวัดธรรมดาก็ดี เราก็จะไอ เวลาเราไปเจอควัน หรือว่าสิ่งที่ระคายเคืองทางเดินหายใจเราก็จะมีอาการไอ แต่อาการไอเรื้อรังมานานตั้งแต่เดือนหนึ่งขึ้นไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่กังวลใจกัน เราก็มักจะแยกแยะสาเหตุที่ทำให้คนไข้เด็ก ไอไม่รู้จักหาย ไอนาน เราก็มักจะแยกออกได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ ส่วนหนึ่งเป็นการไอจากการเป็นโรคติดเชื้อ อีกอย่างก็เป็นอาการไออันเนื่องมาจากเป็นอาการแพ้หรืออาการโรคภูมิแพ้ของร่างกายนั่นเอง ในแง่ของการไอด้วยโรคติดเชื้อนี้ ถ้าหากเราสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อและทำให้คนไข้ไอ นอกเหนือจากไอเรื้อรังแล้วก็อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ทานอาหารไม่ได้ เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด โรคที่เป็นโรคไอเรื้อรังแล้วพบกันบ่อยว่ามีมากในประเทศไทย ที่เรารู้จักกันดีก็คือ วัณโรค นั่นเอง ซึ่งก็ยังคงมีอยู่ แม้กระทั่งในเด็ก ก็สามารถที่จะป่วยเป็นวัณโรคได้ โรคติดเชื้ออีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีอาการไอนาน ไอโดยที่ไม่มีไข้ก็ได้ จนกระทั่งชาวบ้านเขาใช้คำว่า "ไอ 100 วัน " ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็มีวัคซีนป้องกัน โรคนี้ก็ชื่อว่า " โรคไอกรน " ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นโรคติดเชื้อแบบหนึ่งก็คือ การได้รับเชื้อไอกรนเข้าไปแล้วก็อาจจะมีการระบาดในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ แล้วก็ทำให้เด็กมีอาการไอไม่รู้จักหาย ไอนานถึง 100 วัน จนกว่าจะมีอาการทุเลาไปได้เองในที่สุด
ส่วนการไอที่เป็นจากอาการแพ้ ซึ่งมักจะพบกันมากในระยะนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรคภูมิแพ้ หมายความว่า ร่างกายมีการตองสนองต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งเร้าที่มากกว่าธรรมดา ก็จะทำให้มีสารหลั่งออกมามาก เช่น ถ้าแพ้ที่จมูก ก็จะมีน้ำมูกหรือคัดจมูกเรื้อรัง ถ้าแพ้ที่ทางเดินหายใจในลักษณะของการแพ้ที่หลอดลมก็จะทำให้มีหลอดลมตีบ หลอดลมมีภูมิไวเกิน มีเสมหะเรื้อรัง ก็จะทำให้ไอเรื้อรังเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนของการที่จะเดินทางไปสู่โรคภูมแพ้ที่เป็นโรคหอบหืดต่อไป ในส่วนของเด็ก นอกเหนือจากอาการแพ้ที่มีลักษณะแบบนี้แล้ว ยังมีลักษณะอาการแพ้ที่เป็นลักษณะแพ้แบบภูมิไวเกินที่หลอดลม ที่ถูกกระตุ้นด้วยการออกกำลังกายมากแล้วทำให้เด็กไอไม่รู้จักหายอีกก็ได้ ที่เราเรียกว่า เอ็กเซอร์ไซอินดิวส์ การออกกำลังกายหรือเล่นมากของเด็ก ก็จะทำให้เด็กมีอาการไอเกิดขึ้นได้ พอจะแยกแยะออกได้เป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ กลุ่มของโรคติดเชื้อ กับที่เกิดจากการแพ้
3. ลักษณะของการไอที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่เชื้อจากเด็กไปสู่อีกคนหนึ่งได้หรือไม่
ตอบ. อาการไอที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ก็เนื่องจากว่ามีอาการไอ จาม ออกมา เพราะฉะนั้นก็จะสามารถแพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นๆ ได้ เช่น การไอเรื้อรังที่เกิดจากโรควัณโรคนี้ ส่วนใหญ่แล้วเด็กก็จะได้รับเชื้อมาจากการไอ มีเสมหะปนเชื้อวัณโรคจากผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในแง่ของเด็กเอง เมื่อป่วยเป็นวัณโรค ก็ทำให้มีอาการไอ เด็กกลับไม่ค่อยปล่อยเชื้อออกมาทางการไอของตัวเอง แต่ว่าก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ในบ้านเรือนหรือในชุมชนที่เขาอยู่ ได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่มีการแพร่เชื้อออกมา ส่วนโรคไอกรน เวลาไอจามออกมาก็พร้อมจะมีเชื้อกระจายออกมาแล้วทำให้คนอื่นติดได้ ถ้าพูดถึงลักษณะการไอ ในผู้ที่มีความชำนาญสูงมากก็พอจะฟังเสียงไอแล้วแยกแยะได้ว่า ไอแบบนี้น่าจะเป็นไอที่ไม่น่ากลัว ไอแบบนี้น่าจะเป็นไอที่น่ากลัว เช่น ถ้าไอแบบแห้งๆ ไอแบบคันระคายคอ ไอเสียงเหมือนคนที่มีอะไรติดที่ลำคอ แบบนี้ก็ไม่น่ากลัว เพราะแสดงว่าไออันเนื่องมาจากหรือว่าคันและระคายคอแต่ถ้าหากว่าไอแล้วมีเสมหะ ไอจนอ้วกออกมา หรืออาเจียนมีเสมหะออกมาด้วย ไอสึกๆ ลักษณะแบบนี้ก็อาจจะเป็นการไอเนื่องจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างหรือในทรวงอกของรา ลักษณะแบบนี้น่ากลัวที่จะต้องพามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคอะไรแน่ หรือว่าเสียงไอบางอย่าง ไอแบบก้องๆ อาจจะหมายถึงการไออันเนื่องมาจากมีเส้นเสียงอักเสบ หรือบางครั้งไอแล้วมีเสมหะออกมาเป็นคำ ๆ เป็นก้อน ๆ อาจจะบอกถึงอาการไอที่เนื่องมาจากมีโรคหลอดลมโป่งพอง รวมทั้งลักษณะการไอบางอย่าง เช่น ไอเป็นชุด ๆ ไม่หยุดเลย อาจจะบอกว่ามีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอมด้วยทางเดินหายใจหรือไม่ ไอแบบไอกรนหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น
4. การที่พบเด็กไอในฤดูหนาว พบบ่อยหรือไม่ และเกิดจากอากาศที่หนาวหรือไม่
ตอบ. คนเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น พออากาศหนาวมากร่างกายก็จะต้องปรับตัวครั้งหนึ่ง ปกติแล้วหน้าหนาวที่น่ากลัวมากก็คือ อากาศเย็น มันก็ไม่ใช่เย็นเปล่า ๆ มันเย็นและแห้ง อากาศที่เย็นและแห้งจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจของเราทุกส่วนตั้งแต่เยื่อบุจมูกภายในลำคอ หรือทั้งเยื่อบุทางเดินหายใจของเรา คือ ในหลอดลมหรือในท่อลมด้วย อากาศที่เย็นและแห้งจะพาให้จมูกของเราต้องปรับความชื้นแล้วก็ทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปในปอดอบอุ่นขึ้น ด้วยการทำให้มีเลือดมาเลี้ยงที่จมูกมากขึ้น พอมีเลือดมาเลี้ยงที่จมูกมากขึ้น เยื่อบุจมูกก็จะบวม ทำให้เกิดการคัดจมูก แล้วก็ทำให้มีน้ำมูกไหลเล็กๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งจากลักษณะที่ร่างกายต้องปรับตัวเพราะอากาศหนาวเย็นก็จะทำให้ภูมิต้านทานในเฉพาะที่ของเยื่อบุจมูกเกิดการบกพร่องไป ถ้าหากว่าเราไม่รักษาร่างกายให้อบอุ่น ออกไปเผชิญลมหนาวอย่างสู้ฟ้าสู้ดิน ไม่ระมัดระวังตัวเองให้ดี ก็พร้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจนทำให้ร่างกายสู้ไม่ไหว เกิดเป็นไข้ การเกิดไข้ในช่วงที่มีอากาศหนาวนี้ ก็มักจะเป็นการติดเชื้อหวัดเป็นส่วนใหญ่ ก็คือ เป็นหวัดก่อน หลังจากนั้นแล้ว แทนที่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่หายจากหวัดได้ แต่ว่าอากาศที่ยังเย็นต่อเนื่อง ก็จะเกิดทำให้มีลักษณะเรื้อรังหรือไม่หายง่าย ๆ นอกจากนั้นแล้วถ้าหากผู้ป่วยคนนั้นป่วยเป็นกลุ่มอาการของโรคภูมิแพ้ซ่อนเร้นอยู่ ก็คือเขามีภูมิไวหรือมีอาการต่อการแพ้มากกว่าคนธรรมดาก็จะทำให้เขาเกิดอาการไอน้ำมูกไหลยาวนานกว่าธรรมดา ก็อาจแยกแยะได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าตัวเราเป็นหวัด เรามักจะมีองค์ประกอบของการเป็นไข้ร่วมอยู่ด้วย ปวดเนื้อปวดตัวร่วมด้วย เป็นประมาณ 1 สัปดาห์ก็หายไปได้เอง ทานยาบรรเทาอาการเพียงแค่ยาแก้ปวดลดไข้ธรรมดาก็พอ แต่ว่าถ้าหากเป็นยาวนานต่อไป ก็มักจะไม่มีไข้ร่วมด้วยแล้ว แต่อาการก็ไม่หาย อันนี้ก็ชวนให้คิดถึงว่า จะเป็นกลุ่มอาการของภูมิแพ้ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนผู้นั้น ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนพร้อมกับวางแผนการรักษา มิฉะนั้นก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนของอาการแพ้ต่าง ๆ เกิดขึ้น
-มีต่อตอนที่ 2-