หิด

หิด (Scabies)

 

ผศ.พญ.จรัสศรี  ฬียาพรรณ

ผศ.นพ.สุมนัส  บุณยะรัตเวช

ศ.พญ.กนกวลัย  กุลทนันทน์

ภาควิชาตจวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หิดคืออะไร ?

หิดเกิดจากการติดเชื้อไร ชื่อ Sarcoptes scabiei var hominis ซึ่งเป็นตัวไรที่ติดต่อจากมนุษย์ไปสู่มนุษย์ มีขนาดเล็กมากขนาดประมาณ 0.4 มิลลิเมตร จึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแต่เห็นได้ทางกล้องจุลทรรศน์ ตัวหิดสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 3 วันในสภาวะอุณหภูมิห้องปกติ ตัวหิดผสมพันธุ์กันบนผิวหนังคน แล้วเจาะอุโมงค์ในผิวหนังกำพร้าเพื่อใช้วางไข่ โดยออกไข่วันละ 2-30 ฟองแล้วก็จะตาย ตัวอ่อนจะออกจากไข่ในวันที่ 3 หรือ 4 และจะโตเต็มที่ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

หิดติดต่ออย่างไร ?

การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหิด เช่น สัมผัสผิวหนังโดยตรง สัมผัสเสื้อผ้า ผ้าปู และที่นอน เป็นต้นเหตุสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โรคหิดติดต่อง่ายทางการสัมผัส มักพบว่าเป็นกันทั้งครอบครัวที่มีคนอยู่หนาแน่นหรือระบาดอยู่ในชุมชน

อาการของหิดเป็นอย่างไร ?

      ผื่นของหิดจะคันมาก เกิดหลังติดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์โดยเฉพาะเวลากลางคืน อาการคันและผื่นเกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของร่างกายต่อตัวหิดหรือสิ่งขับถ่ายของหิด

      ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดงคัน ผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บริเวณที่พบผื่นได้บ่อยคือ ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับแขน รักแร้ เต้านม อวัยวะเพศ รอบสะดือ และก้น ในเด็กอาจพบผื่นบริเวณหน้าและศีรษะ

      ผื่นของหิดอีกชนิดหนึ่ง อาจพบเป็นตุ่มนูนเนื้อสีแดงอมน้ำตาล คัน มักพบตุ่มชนิดนี้บริเวณรักแร้ และอวัยวะเพศ มักไม่พบตัวหิดในผื่นชนิดนี้ และหลังการรักษาหิดหายแล้วผื่นนี้จะยังคงอยู่ได้

      ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะทำให้การขยายพันธุ์ของหิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดผื่นมีสะเก็ดแห้งขุยหนา ภายในสะเก็ดแห้งมีตัวหิดอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้แพร่เชื้อได้ง่าย

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหิด ?

          1. การซักประวัติ ผื่นที่มีอาการคันมาก และพบสมาชิกครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่มีอาการพร้อมๆกัน
            2. การตรวจร่างกาย พบผื่นที่มีลักษณะจำเพาะดังที่ได้กล่าวแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพบรอยโรคที่เห็นเป็นเส้นเล็กๆ คดเคี้ยวที่ง่ามนิ้วเรียกว่า อุโมงค์หิด  วิธีที่จะช่วยให้หาอุโมงค์ได้ง่าย คือการหยดหมึกลงบนผิวหนังที่จะหาอุโมงค์หิดแล้วเช็ดหมึกส่วนเกินออกจะพบหมึกค้างอยู่ในอุโมงค์
            3. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยขูดบริเวณผื่นคันหรืออุโมงค์หิด จะพบตัวหิด,ไข่ หรือสิ่งขับถ่ายของหิดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างร่วมกัน
            ในกรณีที่แพทย์สงสัยโรคหิดมากจากประวัติและการตรวจร่างกาย แต่การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ไม่พบหลักฐานการติดเชื้อหิด แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยยาซึ่งมีความจำเพาะต่อโรคหิด

 

การรักษาหิด ?

ยาทา

การทายาควรสวมถุงมือยางเมื่อทายาให้ผู้ป่วย ทายาหลังอาบน้ำตอนเย็น ทายา”ทั้งตัว”ตั้งแต่คอลงไป ไม่ควรเลือกทาเฉพาะส่วนที่มีผื่นเท่านั้น เด็กเล็กให้ทาทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะ หน้า คอ ใบหู โดยเฉพาะหลังหู ร่องก้น ง่ามนิ้วและใต้เล็บ  ทายาทิ้งไว้ 8-14 ชั่วโมงแล้วล้างออกในตอนเช้า ทาซ้ำตามรายละเอียดของยาแต่ละตัว
            1. Permethrin cream  ใช้ได้ดีกับผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 2 เดือน ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์
            2. 5-15% sulfur เป็นยากำมะถัน ใช้ได้ดีและค่อนข้างปลอดภัย ใช้ได้ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรทายาทั่วตัว 3 วันติดต่อกัน ข้อเสียคือ ยามีกลิ่นเหม็นและเหนอะหนะ
            3. 10-25
% Benzyl benzoate ใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ ยาอาจมีแสบระคายเคืองได้

ยารับประทาน
         
1. Ivermectin รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม มีประสิทธิภาพรักษาหิดได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย
         
2. อาการคันจากหิดมีอาการได้นานหลังได้รับการรักษา การรับประทานยาแก้คันจะช่วยบรรเทาอาการคันได้
         
3. สำหรับตุ่มหิดสามารถให้การรักษาโดยการทายาหรือฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าที่ตุ่ม หลังได้รับการรักษาหิดแล้ว
         
4. ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยเฉพาะจากการแกะเกา ควรได้รับยาปฏิชีวะนะร่วมด้วย

การป้องกันการแพร่กระจายของหิด

            - ควรรักษาสมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมๆกัน โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ถึงแม้ไม่มีอาการก็จำเป็นต้องรักษา เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัว
            - ทำความสะอาดเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม, ที่นอน, ผ้าปูที่นอน, ผ้าห่ม, ผ้าคลุมเตียง, เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้ในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยการซักน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที สำหรับเครื่องนุ่มหุ้มที่ซักไม่ได้ เช่น หมอนและพรม ควรอบแห้ง 50
oC 20 นาที หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดปากแน่น อย่างน้อย 7 วัน
            - ทำความสะอาดพื้น ดูดฝุ่นพรมและเฟอร์นิเจอร์
            - แยกของใช้ส่วนตัว หวี ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม และที่นอน ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
            - ตัดเล็บสั้นและตะไบเล็บให้ไม่คม ไม่แคะแกะเกาผื่นคัน

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด