โรคสะเก็ดเงิน ตอนที่ 1

โรคสะเก็ดเงิน (ตอนที่ 1)

ภาควิชาตจวิทยา โรคสะเก็ดเงิน
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผื่นของโรคจะมีลักษณะเป็นตุ่ม หรือเป็นปื้นแดง ขุยสีขาวคล้ายเงิน โรคนี้พบบ่อยประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากรทั่วโลก พบในบุคคลทุกเพศทุกวัย และทุกประเทศ ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่โรคมักจะมีผลต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ป่วย ความก้าวหน้าในการรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบันได้พัฒนาไปมากทำให้เราสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
            สาเหตุที่แท้จริง  ที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรค สิ่งกระตุ้นที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อ เช่น หวัด การได้รับอันตรายของผิวหนัง เช่น การแกะ เกา ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค
            โดยทั่วไป ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยอย่างเดียวก็มักจะเพียงพอในการวินิจฉัยโรค แต่ในบางระยะของโรคสะเก็ดเงิน การวินิจฉัยอาจมีปัญหา ในกรณีดังกล่าวการตรวจชิ้นเนื้อของผื่นผิวหนังจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

จุดประสงค์ของการรักษา
             เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จะทำให้หายขาดจากโรค การรักษาจึงมุ่งไปที่การทำให้ผื่นของโรคดีขึ้นหรือสงบลง พร้อมกับป้องกันไม่ให้กำเริบโดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น โรคติดเชื้อ การได้รับอันตรายของผิวหนัง ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น

ขั้นตอนการรักษา
             ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาใหม่ ๆ ทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษาขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละชนิดมีผลดีและผลเสียที่ต่างกัน การเลือกให้การรักษาจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายประการ เช่น ตำแหน่งของผื่น ความระคายเคืองของยา เศรษฐฐานะของผู้ป่วยเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษา และความสะดวกของผู้ป่วยที่จะมารับการรักษา เป็นต้น
             ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไม่มากนัก ผื่นน้อยกว่า 20% ของผิวหนังอาจเริ่มรักษาด้วยยาทาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดจากยารับประทาน แต่ในกรณีที่เป็นผื่นในบริเวณกว้างมากกว่า 20% ของผิวหนัง หรือผื่นค่อนข้างกระจัดกระจาย การรักษาด้วยยาทาอาจไม่สะดวกในกรณีนี้ การใช้ยารับประทาน หรือการฉายแสงอาจจะได้ผลดีกว่า

การรักษาด้วยยาทา
ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ซึ่งยาแต่ละชนิดมีผลดีและเสียต่างกัน ได้แก่
             1. ยาทาพวกสเตียรอยด์  เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้ ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง แต่ถ้าใช้สเตียรอยด์ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้หลายประการ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว และการดื้อยา นอกจากนั้นโรคยังกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นไม่ควรซื้อใช้เอง
             2. น้ำมันดิน น้ำมันดินให้ผลการรักษาใกล้เคียงกันสเตรียรอยด์ แต่มีกลิ่นเหม็นและดูสกปรกเวลาใช้ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และเนื่องจากตน้ำมันดินอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้จึงไม่ควรใช้ทาบริเวณในหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ
             3. สารพวกแอนทราลิน (Antralin) เป็นยาที่นิยมใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งในหลายประเทศทางยุโรป และอเมริกา เนื่องจากยาใช้ได้ผลดีและโรคกลับเป็นซ้ำได้น้อยเมื่อหยุดการรักษา ยาดังกล่าวมีข้อจำกัดอยู่ที่วิธีการใช้ยุ่งยากและมีผลข้าวเคียง คืออาการระคายเคือง และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้น จึงไม่ควรใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพักและอวัยวะเพศ
             4. วิตามินดี 3 (Calcipotriol) เป็นยาใหม่ที่นิยมใช้กันมาก ในปัจจุบันในประเทศตะวันตก เนื่องจากให้ผลการรักษาดี รวดเร็วพอ ๆ กับสเตียรอยด์ระดับกลางแต่ไม่มีผลเสียเหมือนสเตียรอยด์ และไม่มีสีหรือกลิ่นเหมือนน้ำมันดิน และแอนทราลิน อีกทั้งยังก่อนให้เกิดอาการระคายเคืองน้อยกว่าแอทนทราลีน แต่อย่างไรก็ตาม วิตามินดี 3 อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ จึงไม่ควรใช้ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดคือยายังมีราคาแพงมาก

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด