การรักษาโรคแพ้อากาศ
การรักษาโรคแพ้อากาศ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
1. การดูแลตนเอง
อย่างเหมาะสม และ หลีกเลี่ยง หรือ กำจัดสิ่งที่แพ้
การรักษาที่สำคัญที่สุด โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส เพราะถ้ามีอาการเครียด เศร้า โกรธ หรือกังวล อาจทำให้อาการของโรคมากขึ้นได้ เมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือบริเวณรอบ ๆ จมูก เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ ฟันผุ คอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ควรรีบไปหาแพทย์ เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะการติดเชื้อดังกล่าวจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง อาการของโรคอาจกำเริบขึ้นได้ พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ ถ้าทราบว่าตัวเองแพ้อะไร (โดยวิธีทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง) หรือถ้าไม่ได้ทดสอบภูมิแพ้ อาจใช้วิธีสังเกตว่า สัมผัสกับอะไรแล้วมีอาการ ก็ไม่ควรเข้าไปใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก หรือบริเวณที่กำลังก่อสร้าง นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้ เช่น
- ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ไม่กวาดหรือที่ปัดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น ถ้าจำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะทำความสะอาดด้วย
- ควรนำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง มาตากแดดจัด ๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที แสงแดดจะฆ่าตัวไรฝุ่น ให้ลดจำนวนลงได้
- ควรซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ถ้าสามารถซักในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที ได้ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นที่อาศัยอยู่ได้
- ควรใช้หมอน ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ไม่ควรใช้ชนิดที่มีนุ่นอยู่ภายใน ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรหุ้มพลาสติกก่อนสวมปลอกหมอนหรือคลุมเตียง เพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น หรืออาจใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอนที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันการเล็ดลอดของตัวไรฝุ่นและสารจากไรฝุ่น จากที่นอนและหมอน มาสู่ตัวของผู้ป่วยร่วมด้วย
- ควรจัดห้องนอนให้โล่ง และมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง ไม่ควรมีกองหนังสือหรือกระดาษเก่า ๆ ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด ไม่ควรใช้เก้าอี้ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้าไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือของเล่นที่ขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นที่กักเก็บฝุ่นได้
- กำจัดแมลงสาบ มด แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากเศษชิ้นส่วนของแมลงเหล่านี้ รวมทั้งสิ่งขับถ่ายของมัน อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ควรให้ผู้อื่นทำการกำจัด และทำในเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่บ้าน
- ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หนู กระต่าย เป็ดหรือไก่ อาจโดยการสัมผัส หรือหายใจเอาขนหรือรังแคของสัตว์เหล่านี้เข้าไป ไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน หรืออย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้องนอน แม้ว่าผู้ป่วยไม่แพ้สัตว์ดังกล่าว ก็ไม่ควรคลุกคลีหรือนำสัตว์เข้ามาในบ้าน เพราะอาจมีโอกาสที่จะแพ้ขึ้นมาได้ในภายหลัง สัตว์ที่ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงได้โดยปลอดภัย คือ ปลา
- เชื้อราในอากาศก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรพยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้นในบ้าน โดยพยายามเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง หมั่นตรวจและทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ พยายามกำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ที่ร่วงอยู่บนพื้นเศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน เพราะดินในกระถางอาจเป็นที่เพาะเชื้อราได้ กำจัดอาหารที่เชื้อราขึ้นโดยเร็ว เมื่อเกิดมีเชื้อราขึ้นที่ใด ควรทำลายโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำยาไลโซล น้ำยาฟอกผ้าขาว เช่น คลอร็อกซ์
- ละอองเกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรให้ผู้อื่นตัดหญ้าและวัชพืชในสนามบ่อย ๆ เพื่อลดจำนวนละอองเกสรของมัน แม้ในบ้านไม่มีหญ้าหรือวัชพืชใด ๆ ก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีอาการได้เนื่องจากละอองเกสรเหล่านี้เล็ก เบา จึงอาจปลิวตามลมมาจากที่อื่นได้
- ในรถยนต์ส่วนตัวที่ผู้ป่วยนั่งก็เช่นกัน ควรดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ผ้าเป็นวัสดุคลุมเบาะรองนั่งหมั่นตรวจและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้
การกระทำดังกล่าวข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้อย่างมาก นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่าง ๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควัน กลิ่นฉุนหรือแรง อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว การอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ อารมณ์ที่ตึงเครียด ไม่สบายใจ ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตว่าสารหรือภาวะแวดล้อมหรือการปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้อาการของโรคมากขึ้น ควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
2. การใช้ยา
เพื่อ บรรเทาอาการ
การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทาน หรือ ยาพ่นในจมูก อาจมีความจำเป็นในระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ 100% เมื่อสามารถดูแลตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งให้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยา แล้วแต่การตอบสนองต่อการรักษา จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์จาการใช้ยาสูงสุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
3. การฉีดวัคซีน
ภูมิแพ้
เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีหอบหืดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
4. การรักษา
โดยการ ผ่าตัด
ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูกไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา
โรคแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทย จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2538 พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 38% หรือเกือบ 2 เท่าของอุบัติการณ์ที่สำรวจไว้เมื่อ พ.ศ.2518 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น มีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก มีเสมหะในลำคอ อาจมีอาการคันที่ตา คอ หู หรือเพดานปากร่วมด้วย สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญคือ ตัวไรฝุ่นที่อาศัยอยู่ในฝุ่นบ้านและสิ่งขับถ่ายของมัน โรคแพ้อากาศเป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลาน จึงอาจมีคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยได้ สิ่งแวดล้อมซึ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น มีการศึกษาพบว่า อาการของโรคจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไปนอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบผนังคออักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ภาวะที่น้ำขังในหูชั้นกลาง จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน ทำให้อาการหอบหืด (ถ้ามี) เป็นมากขึ้นได้ การให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย