หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์
หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์
บังอร พรรณลาภ
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หัดเยอรมัน เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการไม่รุนแรงมาก โรคนี้จะติดต่อถึงกันได้ทางการหายใจ โดยเชื้อในละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยในอากาศ ถ่ายทอดไปยังผู้ใกล้ชิด ระยะเวลานี้สามารถแพร่เชื้อ คือ 7 วันก่อนออกผื่นจนถึง 5 วันหลังผื่นขึ้น
อาการ
ภายหลังได้รับเชื้อแล้ว ประมาณ 14-21 วัน จะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และตามข้อเล็กน้อย หลังจากเป็นไข้ได้ 1-2 วัน จะเกิดผื่นแดงบริเวณใบหน้าแล้วจึงกระจายไปตามลำคอ ตัว แขนและขา บริเวณหลังหูข้างท้ายทอยจะคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย กดเจ็บ อาการดังกล่าวจะมีอยู่ 2-3 วัน ในบางรายจะเป็นโดยไม่มีผื่นขึ้นเลย
การวินิจฉัยโรค
ในผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน การวินิจฉัยก็เป็นไปโดยถูกต้อง แต่ในรายที่อาการปรากฏไม่ชัดเจน การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการเจาะเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องกระทำ 2 ครั้ง ถ้าผลเลือดครั้งหลังสูงกว่าครั้งแรกแสดงว่าได้เกิดการติดเชื้อหัดเยอรมันขึ้น แต่ถ้าผลเลือดครั้งหลังเท่ากันหรือน้อยกว่าครั้งแรก แสดงว่าไม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน สำหรับผู้ที่ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันแล้วจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้อีก
ผลของหัดเยอรมันต่อการตั้งครรภ์
ในมารดาจะไม่มีอันตรายจากหัดเยอรมัน แต่ทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะเกิดความผิดปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อติดเชื้อ ถ้าอยู่ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะพบความพิการที่เห็นได้ชัดคือ ตาเป็นต้อกระจกหรือต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติทำให้เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง ตับ ม้ามโตและมีความผิดปกติทางสมอง
การป้องกันและการรักษา
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การให้เด็กหญิงหรือหญิงวัยสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน
ขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน ถ้าฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรคุมกำเนิดไว้ 3 เดือน
เมื่อพิสูจน์ได้แน่ว่าติดหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะโอกาสเด็กพิการมีถึง 50 % ดังนั้น สตรีที่มีครรภ์เมื่อป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง