ออกกำลังกายแล้วปวดกล้ามเนื้อจริงๆ แล้วควรหยุดพักจริงไหม?

งานสร้างเสริมสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            อาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายมักพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายมือใหม่หรือนักเวทมืออาชีพ บางครั้งอาจถึงขั้นรุนแรงจนแทบขยับร่างกายไม่ได้ แต่เรามักได้ยินว่าออกกำลังกายจุดเดิมซ้ำจึงจะหายดีจริงหรือ? เราจึงชวนมาไขข้อข้องใจพร้อมรับมือวิธีแก้ไขกัน

การปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่

            1. การปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ได้มีการบาดเจ็บจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อโดยปกติเมื่อหลังการออกกำลังกาย มีการใช้งานกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว จะเกิดกระบวนการดึงพลังงานออกมาใช้ และเกิดกรดแลคติก (Lactic Acid) ในกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า (Muscle Fatigue)ปวดกล้ามเนื้อได้เป็นเรื่องปกติซึ่งกรณีนี้สามารถออกกำลังกายต่อได้
          วิธีแก้ไขและลดการตึงตัวสามารถทำได้โดย การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวช้าๆ หรือคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย(Cool down) จะช่วยให้ร่างกายสลายกรดแลคติกได้ดียิ่งขึ้น

            2. การปวดกล้ามเนื้อที่มีการบาดเจ็บจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อ บางครั้งการออกกำลังกายที่มี การใช้งานกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว อาจจะทำให้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะเกิดแรงกระฉากที่กล้ามเนื้อส่งผลให้เกิดมีการบิดของข้อต่อต่างๆจนทำให้เกิดการบาดเจ็บมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อต่างๆจนทำให้มีการปวดกล้ามเนื้อขึ้น
            โดยหากมีอาการปวด บวม แดง ร้อนขึ้นในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายซ้ำ ควรมีการพักรักษา และหากมีอาการปวดมากควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมรับการรักษา

            เมื่อทุกคนทราบอย่างนี้แล้วเรามาออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงกันเลยนะครับ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด