การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
นางสาวจีรนันท์ คันทะสอน
นางสาววชิรญา บุรพธานินทร์
นักจิตวิทยาคลินิก สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เคยสังเกตไหมว่าเด็กหลายคนชอบเล่น เพราะการเล่นไม่ใช่แค่กิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลินเท่านั้น แต่การเล่นแฝงไปด้วยประโยชน์มหาศาล การเล่นเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้มากมาย เป็นจุดเริ่มต้นสู่การจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ การเล่นเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยเด็ก ๆ จะเลือกเล่นตามความสนใจ อย่างเป็นอิสระและสนุกสนาน การเล่นช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สมอง และสังคม
ด้านร่างกาย การวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พัฒนาทักษะการทรงตัวและการเคลื่อนไหว การหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและการประสานงานระหว่างมือกับตา
ด้านอารมณ์และจิตใจ การเล่นกับเพื่อน ๆ ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ได้เรียนรู้การแสดงออกและควบคุมอารมณ์ การเล่นยังช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
ด้านสมอง การเล่นช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ดี และมีจินตนาการที่กว้างไกล การเล่นเกมต่าง ๆ ช่วยฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผน และการตัดสินใจ
ด้านสังคม การเล่นกับเพื่อน ๆ ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเข้าสังคม รู้จักการปรับตัวทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการแบ่งปัน และเคารพสิทธิของผู้อื่น
การเล่นที่เหมาะสมตามช่วงวัย
เด็กแต่ละช่วงวัยมีความต้องการและพัฒนาการที่แตกต่างกัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ในการเล่นของลูก การเล่นจึงควรปรับให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเล่นที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะในการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต การเล่นยังช่วยให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ดี
ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองควรกำกับและติดตามดูแลการใช้หน้าจอของเด็ก ทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอทุกชนิด เด็กที่อายุ 2-5 ปี ควรใช้หน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้หน้าจอ 2 ชั่วโมงต่อวัน และควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเกี่ยวกับประเภทและเนื้อหาที่ดู
ช่วงอายุ |
ทักษะตามช่วงวัย |
ตัวอย่างการเล่น |
---|---|---|
1-3 ปี |
- เล่นผ่านการเคลื่อนไหว สนใจสิ่งแวดล้อม - เล่นเชิงสัญลักษณ์แบบง่าย ๆ - เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแต่ยังเป็นการเล่นคนเดียว |
- สนับสนุนให้เด็ก วิ่งเล่น กระโดด ยืนทรงตัวขาเดียว รวมถึงได้สัมผัสพื้นผิวที่หลากหลาย เช่น - เล่นสมมติง่าย ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น เคาะโต๊ะให้เกิดเสียง - กระตุ้นให้เด็กได้เล่นกับเด็กคนอื่น |
4-6 ปี |
- เล่นบทบาทสมมติกับคนอื่น - การเล่นเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถทำตามกติกา รอคอย และผลัดกันเล่นได้ |
- เล่นบทบาทสมมติ เช่น พ่อแม่ลูก คุณหมอ - เล่นเกม เช่น เก้าอี้ดนตรี ลิงชิงบอล วิ่งไล่จับ |
7-9 ปี |
- เล่นเป็นกลุ่มในเกมที่มีกติกาชัดเจน
|
- เล่นบอร์ดเกม เล่นประดิษฐ์ทำงานฝีมือ |
10-12 ปี |
- ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มที่ซับซ้อน ท้าทาย สร้างความเป็นตัวตน - เข้าใจและทำตามกฎกติกา มารยาททางสังคม |
- เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างมีอิสระ |
พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเล่นของลูก การเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ การให้ลูกได้เล่นตามความสนใจ เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ รวมถึงการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเล่นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การให้กำลังใจและชื่นชมในความพยายามของลูก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ลูกอยากเล่นมากขึ้น
ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับอนาคตของเด็ก การเล่นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีความสุข แต่ยังช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
นิตยา คชภักดี. พัฒนาการเด็ก (Child development). ใน นิชรา เรืองดารกานนท์, ชาคริยา ธีรเนตร, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, นิตยา คชภักดี, บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2551: หน้า 359 – 394.
Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP Committee on Psychosocial Aspects of Child and Family Health, AAP Council on Communications and Media. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018; 142(3):e20182058.