สมุนไพรบรรเทาอาการท้องผูก
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อาการท้องผูก เป็นภาวะผิดปกติของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะสำคัญ คือ จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระน้อยลงกว่าปกติ ปริมาณอุจจาระน้อยลงกว่าปกติ อุจจาระมีลักษณะแข็ง ถ่ายลำบาก ต้องเบ่งมากหรือรู้สึกไม่สบายเวลาถ่าย หรือบางครั้งจะมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่สุดในแต่ละวัน(๑) อาการท้องผูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานยาบางชนิดการทำงานของระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย(๒) ในด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น สามารถบรรเทาอาการท้องผูกโดยการใช้สมุนไพร และยาตำรับได้ ดังนี้
สมุนไพรบรรเทาอาการท้องผูก
๑. สมุนไพรเดี่ยว(๓) : มักใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย ได้แก่ สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เค็ม และเมาเบื่อ จะช่วยเพิ่มธาตุน้ำในอุจจาระ(คูถเสมหะ) ทำให้อุจจาระเป็นก้อนนิ่ม
ตัวอย่างสมุนไพร ได้แก่ มะขาม มะขามแขก เนื้อในฝักคูน เกลือ ชุมเห็ดเทศ
ข้อควรระวัง : อาจทำให้ถ่ายมากเกินไปจนเกิดอาการอ่อนเพลียได้ หากมีการขับถ่ายแล้วควรงดการใช้ยา
๒. ยาตำรับ : ยาสมุนไพรที่ใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูกส่วนใหญ่มีรสร้อนสุขุม ช่วยกระจายลม ทำให้อุจจาระที่อยู่ในลำไส้ถูกพัดออกมาทางทวารได้ง่ายขึ้น การเบ่งถ่ายลดลง นอกจากนี้ยังมีตัวยาออกฤทธิ์ในการระบายร่วมด้วย
ตัวอย่างตำรับยา ยาธรณีสันฑะฆาต(๔)
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ : แก้เถาดาน แก้ท้องผูก
วิธีใช้ ชนิดลูกกลอน รับประทานครั้งละ ๕๐๐ มิลลิกรัม-๑ กรัม วันละ ๑ ครั้ง ก่อนอาหาร เช้าหรือก่อนนอน
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็ก
ข้อควรระวัง :
๑. ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
๒. ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมการบูรและเกิดพิษได้
๓. ควรระวังการใช้ยานี้ ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
๔. ควรระวังการใช้ในผู้สูงอายุ
นอกเหนือจากการใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความวิตกกังวล ความเครียด รับประทานอาหารที่มีกากใย ผักและผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ขับถ่ายให้ตรงเวลา และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยสามารถขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้ยาสมุนไพรกับแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อประสิทธิผลในการรักษา และความปลอดภัย
เอกสารอ้างอิง
๑. วิภาวรรณ ศุภพฤกษ์, จตุรภัทร ตันติวงศ์, จิรสุภา ตั้งฐิตวงศ์, ภูมิณภัทร์ แสงสุมาศ, พัสราภรณ์ ศุภวงศ์วรรธนะ, ศุภมาศ จารุจรณ, และคณะ. บทที่ ๒๔ การศึกษาต่อเนื่องกับการพัฒนาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตัวอย่างกระบวนการรวบรวมความรู้จากประสบการณ์เวชปฏิบัติ: ท้องผูก. ใน: ทวี เลาหพันธ์, เอื้อพงศ์ จตุรธำรง, ธานี เทพวัลย์, บรรณาธิการ. การแพทย์แผนไทยประยุกต์กับการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ยั่งยืน ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๕. หน้า ๑๖๓-๗๓.
๒. World Gastroenterology Organisation Global Guidelines. Constipation: a global perspective [Internet]. 2010 [cited 2023 Dec 12]. Available from: https://www.worldgastroenterology.org/UserFiles/file/
๓. จอมจิต วารีขันธุ์, ปิยาอร สีรูปหมอก, เอกลักษณ์ โยทัยเที่ยง. ตัวอย่างการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทย: ท้องผูก. ใน: ทวี เลาหพันธ์, เอื้อพงศ์ จตุรธำรง, บรรณาธิการ. การแพทย์แผนไทยประยุกต์กับการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ยั่งยืน ๒๕๕๕. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๕. หน้า ๒๗-๓๓.
๔. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๖. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๐ ง หน้า ๑๓-๑๔.