ยูเวียอักเสบหรือผนังชั้นกลางของตาอักเสบ
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ยูเวียอักเสบ (uveitis) คือภาวะการอักเสบของผนังชั้นกลางของตา ได้แก่ ม่านตา ซิลิอารีบอดีย์และ/ หรือคอรอยด์ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยโรค ตามส่วนประกอบของลูกตาที่เกิดการอักเสบ เช่น ม่านตาอักเสบ น้ำวุ้นตาอักเสบ หรือจอตาอักเสบ เป็นต้น ซึ่งการอักเสบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งในบางกรณี อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ ทั้งนี้ การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของการอักเสบเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์และจักษุแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
อาการของยูเวียอักเสบ
- ตาแดง
- ปวดตา
- ตามัว
- สู้แสงไม่ได้
- เห็นจุดดำลอยไปมา และ/ หรือเห็นแสงไฟในตา
ภาวะแทรกซ้อนจากยูเวียอักเสบ
- ต้อกระจก
- ต้อหิน
- จุดรับภาพชัดบวม
- พังผืดที่จุดรับภาพ
- เส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติ
- ตาฝ่อ
สาเหตุของยูเวียอักเสบ
- การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- การอักเสบเฉพาะที่ ภายในลูกตา
- การอักเสบที่สัมพันธ์กับโรคทางกาย เช่น โรคแพ้ภูมิตนเอง, โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- การติดเชื้อ
- การอักเสบที่สัมพันธ์กับการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ
- การอักเสบที่สัมพันธ์กับยาหรือวัคซีน
- มะเร็ง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การสืบค้นทางตา
- การถ่ายรูปตาบริเวณที่มีพยาธิสภาพ
- การฉีดสี เพื่อดูความผิดปกติของจอตา
- การทำอัลตราซาวน์เพื่อดูความผิดปกติบริเวณส่วนหลังของลูกตา
- การเจาะตรวจน้ำในช่องหน้าม่านตาหรือน้ำวุ้นตา เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ หรือเซลล์มะเร็ง
การสืบค้นนอกเหนือจากทางตา
- การตรวจเลือด
- การตรวจค้นทางรังสีวิทยา
- การตรวจอุจจาระ/ ปัสสาวะ
การรักษา
โดยทั่วไปการรักษาหลักของภาวะยูเวียอักเสบเป็นการรักษาด้วยยา ตามแต่สาเหตุของการอักเสบ หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ การรักษาหลักคือการให้ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ยาฆ่าพยาธิ เป็นต้น แต่หากสาเหตุของการอักเสบเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติหรือมีโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และ/ หรือยากดภูมิคุ้มกัน และ/หรือยาชีววัตถุ ในบางกรณี ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ และ/ หรือการผ่าตัดร่วยวมด้วย