สร้างภูมิคุ้มกันด้วย “วัคซีน” ตั้งแต่วัยแรกเกิด

สาขาโรคติดเชื้อเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


          การฉีดวัคซีนให้กับลูกน้อย เริ่มได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี โดยวัคซีนส่วนใหญ่จะผลิตมาจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้  และเมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา

วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) ดีอย่างไรต่อลูกน้อย

          วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ หรือที่เรียกว่า DTaP ทำมาจากพิษของเชื้อคอตีบและบาดทะยักที่ผ่านขึ้นตอนการทำให้ไม่ก่อโรคในคน รวมกับส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อไอกรนที่แยกบริสุทธ์ วัคซีนนี้ต่างจากวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ที่เอาเชื้อไอกรนทั้งเซลล์มาทำเป็นวัคซีน ซึ่งทำให้วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ เป็นวัคซีนที่มีอาการข้างเคียงต่ำลง เมื่อได้รับวัคซีนครบตามกำหนด จะมีภูมิคุ้มกันของโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนได้ดีมาก ป้องกันโรคชนิดรุนแรงได้สูงสุดทั้งหมด

 

ใครบ้างที่ต้องฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP)

          เด็กไทยทุกคน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน18 เดือน และ 4-6 ปี โดยจะใช้วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ หรือชนิดไร้เซลล์ก็ได้ สามารถใช้แทนกันได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามในเด็กที่เคยมีปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนชนิดทั้งเซลล์มาก่อนเช่น มีไข้สูง ชัก ตัวอ่อน ร้องไม่หยุดหลังฉีดวัคซีน ควรพิจารณาให้ใช้วัคซีนชนิดไร้เซลล์(DTaP)ในการฉีดครั้งต่อไป

 

วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) มีผลข้างเคียงอย่างไร

          อาจมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่สบาย ร้องกวน อาเจียน แต่อาการทั้งหมดมักไม่รุนแรง อาการไข้ควรหายไปภายใน 2-3 วัน นอกจากนี้ยังพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อยมาก คือ ชัก ร้องไห้ไม่หยุด ตัวอ่อนปวกเปียก ไข้สูง

 

          วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) สามารถไปรวมกับวัคซีนตัวอื่นๆได้อีกจึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ลูกน้อยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกน้อยได้รับภูมิคุ้มกันหลายโรคในการฉีดครั้งเดียว ลดการเจ็บตัว ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ประหยัดเวลา และลดจำนวนครั้งในการมาโรงพยาบาล ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกยังมีคำแนะนำให้ผู้ปกครองพิจารณาการฉีดวัคซีนรวมแก่เด็กๆ เพื่อป้องกันโรคได้ทันเวลาโดยลดจำนวนครั้งที่ต้องไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาลบ่อยๆ

 

วัคซีนรวมแบบพร้อมฉีด: ติดอาวุธสำคัญให้ลูกน้อย

         ‘วัคซีนรวมป้องกัน 6 โรค’ เป็นอีกทางเลือกสำคัญให้ลูกน้อยได้รับบริการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ลูกน้อยได้รับภูมิคุ้มกันหลายโรคในการฉีดครั้งเดียว ลดการเจ็บตัว ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ประหยัดเวลา และลดจำนวนครั้งในการมาโรงพยาบาล

 

รู้จักวัคซีนรวมป้องกัน6 โรคสำคัญในเด็ก

          วัคซีนรวม 6 โรค สามารถป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี โปลิโอ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ ซึ่งความรุนแรงของการเกิด 6 โรคนี้ส่งผลอันตรายต่อเด็กอย่างมาก โดยอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้

  1. คอตีบ อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดกั้น หรือจากพิษของเชื้อทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือปลายประสาทอักเสบ
  2. ไอกรน มักมีอาการรุนแรงในเด็กอายุน้อย เช่น ไอจนตัวเขียว หรือไอรุนแรงจนหยุดหายใจ
  3. บาดทะยัก เด็กจะมีอาการเกร็งชักกระตุก กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ และหยุดหายใจได้
  4. ตับอักเสบบี เด็กอาจมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง มีโอกาสเป็นพาหะเรื้อรังและอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในอนาคต
  5. โปลิโอ เด็กอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาลีบ เป็นอัมพาต และเสียชีวิต
  6. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ เป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก อาจก่อให้เกิดความพิการ และยังก่อโรคปอดบวม ข้ออักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด

            ปัจจุบันวัคซีนรวม 6 โรคในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบที่ต้องผสมวัคซีนก่อนฉีดและแบบพร้อมฉีด วัคซีนรวม 6 โรคแบบพร้อมฉีดช่วยเพิ่มความสะดวกในการบริหารวัคซีน โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่อยู่ในวัคซีนได้ไม่แตกต่างกับแบบที่ต้องผสมวัคซีนก่อนฉีด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันความเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ลูกน้อยได้รับวัคซีนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข.วัคซีนเสริมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน(ชนิดไร้เซลล์);หน้า 2(ebook).[ค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566]
  2. World Health Organization. Guidance on routine immunization services during COVID-19 pandemic in the WHO European Region, 20 March 2020. Available from https://apps.who.int/iris/handle/10665/334123   
  3. World Health Organization. Combination Vaccines. Available from https://www.cdc.gov/vaccines/parents/why-vaccinate/combination-vaccines.html
  4. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตําราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. Available from http://dmsic.moph.go.th/index/download/799

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด