การจัดสภาพแวดล้อมในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

นางสาวอนัญญา ตรีวิสูตร
นักจิตวิทยาคลินิก
คลินิกสูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

           การจัดสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมีผลต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ หากมีการจัดสิ่งล้อมที่เอื้อต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มแรก จะสะดวกต่อผู้ดูแลและป้องกันการบาดเจ็บของผู้สูงอายุ ด้วยข้อจำบางอย่างทำให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทำให้อยู่ภายในบ้านมากขึ้น ฉะนั้นนอกจากจะให้ความสำคัญในด้านการดูแลแล้ว จึงจำเป็นต้อง จัดสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์และเหมาะสมกับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

            วันนี้ทางคลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำความรู้การจัดสภาพแวดล้อมในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม มาฝากกันค่ะ

           ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อมคือโรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง? ภาวะนี้ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุและบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะผู้ดูแลจากการบกพร่องของการความจำ การคิดอ่าน ความเข้าใจ การตัดสินใจ การรับรู้มิติสัมพันธ์และทิศทาง ตลอดจนมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นผู้ที่มีสมองเสื่อมมักมีการเจ็บป่วยด้านร่างกาย เช่น มีโรคประจำตัวอื่น เกิดการหกล้ม เพิ่มมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมถึง 8 เท่า  โดยบ้านที่ไม่ปลอดภัยส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม 1.15 เท่า การจัดสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมีผลต่อการดำเนินใช้ชีวิต พฤติกรรมและอารมณ์ หากมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มแรก จะสะดวกต่อผู้สูงอายุให้สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้  และทำให้การดูแลง่ายขึ้น และป้องกันการเกิดอันตรายกับผู้สูงอายุ  ฉะนั้นนอกจากจะให้ความสำคัญในด้านการดูแลแล้ว จึงจำเป็นต้อง จัดสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์และเหมาะสมกับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

การวางแผนจัดสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมควรมีประเมินสุขภาพ

          การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในหรือบริเวณบ้าน ควรวางแผนตั้งแต่ก่อนสูงวัย เพื่อให้มีความคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ก่อนเกิดสมองเสื่อม และการมาปรับเปลี่ยนภายหลังอาจทำได้ลำบากเนื่องจากติดขัดด้านสถานที่ไม่อำนวย อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนสถานที่พักอาศัยเมื่อสมองเสื่อมแล้ว ไม่ควรปรับแบบเปลี่ยนทั้งหมด เพราะผู้ที่มีสมองเสื่อมอาจสับสนตำแหน่ง และสถานที่ ตลอดจนวิธีการใช้งานต่าง ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ ได้ ก่อนการปรับสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ควรคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติมจากกรณีทั่วไป ดังนี้

1. ประเมินความสามารถในการดูแลตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน (Activities of Daily Living)

           ความสามารถขั้นพื้นฐานที่ใช้ในการดูแลตัวเองในกิจวัตรประจำวันของตัวผู้สูงอายุเอง ซึ่งมักสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงและชนิดของภาวะสมองเสื่อม  เช่น การรับประทานอาหาร ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า  ลุกจากเตียงเดินไปมาในบ้าน เดินขึ้นลงบันได เข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง และกลั้นปัสสาวะอุจจาระ ผู้สูงอายุทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง หรือ ทำได้โดยต้องมีผู้ช่วย หรือทำไม่ได้เลย ญาติและผู้ดูแลสังเกตเปรียบเทียบกับระดับความสามารถเดิม รวมถึง ปัญหาด้านสายตา ปวดข้อ แขนขาไม่มีแรง เพื่อจัดสภาพแวะล้อมให้เหมาะสม

2. ประเมินสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม   (Environment Assessment )

           สภาพแวดล้อมของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมทั้งที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม หมายถึง ตัวบ้าน วัสดุตกแต่ง ส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในบ้านเพื่อใช้สอย เช่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ  การปรับสภาพแวดล้อมมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เอื้อให้สามารถใช้ความสามารถที่มีทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง

การออกแบบสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ

 1. มีความปลอดภัยทางกายภาพ

          ความปลอดภัยทางด้านร่างกายและสุขภาพอนามัย ที่พักเพียงพอแยกเป็นสัดส่วน แสงสว่างที่เพียงพอ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ชัดเจน ไม่มีสิ่งของขวางทางเดิน ป้องกันอุบัติเหตุการหกล้ม โดยจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พื้นกระเบื้องไม่ลื่นอุปกรณ์เปิด-ปิดน้ำไม่ต้องออกแรงมาก กำจัดสิ่งรบกวน กลิ่นไม่พึงประสงค์ ห้องอุณหภูมิเหมาะสม  โดยเฉพาะอันตรายจากสิ่งหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ผู้ป่วยรับประทาน น้ำยาล้างจานเนื่องจากคิดว่าเป็นน้ำผลไม้ ฯลฯ

 2. สามารถเข้าถึงได้ง่าย

          ผู้สูงอายุสามารถหยิบของได้สะดวก จัดสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยไม่เปลี่ยนที่วางสิ่งของบ่อยๆ เช่น ตำแหน่งเตียง โต๊ะกินอาหาร ตู้เสื้อผ้า ห้องนอนควรอยู่ชั้นหนึ่ง มีอุปกรณ์กันตกเตียง  ห้องน้ำควรอยู่ใกล้ห้องนอนและไม่เปียกลื่น หรือ ไม่มีสิ่งของที่มากเกินไปจนยากต่อการตัดสินใจเลือกใช้จะเอื้อให้ผู้สูงอายุเลือกเสื้อผ้าในการแต่งตัวได้เองมากที่สุด

3. สามารถสร้างแรงกระตุ้นในการช่วยเหลือตัวเอง

          สร้างแรงกระตุ้นให้มีกิจกรรมมีการกระตุ้นให้มีกิจกรรมปริชาน (cognitive activites)  เช่น มีนาฬิกาซึ่งมีตัวเลขขนาดใหญ่ ปฏิทินที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบวัน เวลา หรือ ภาพสถานที่ และบุคคลที่สำคัญ ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุโดยการรนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ  ให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกายลุกเดินอย่างเหมาะสมเจอธรรมชาติให้สดชื่นมีชีวิตชีวา  อุปกรณ์ในบ้านมีสีสันมองเห็นชัดเจน รวมถึง มองหาความสามารถที่ยังคงอยู่ของผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริม เช่น จัดสวน ทำกับข้าว ประดิษฐ์สิ่งของ ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เลี้ยงสัตว์  เป็นต้น

4. ดูแลรักษาง่าย

          บ้านและสิ่งของ ควรเลือกที่สามารถดูและรักษาง่ายต่อการดูแลรักษา  เช่น มีบานเลื่อนอลูมีเนียมป้องกันฝน และสนามหญ้าที่มีพุ่มไม้เตี้ยเพื่อลดงานสนาม  เครื่องแก้ว ระวังการหล่นแตก ง่ายต่อการใช้งานและดูแลรักษา สิ่งสำคัญ มีความปลอดภัยโดยการค้นหาและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายเช่นเก็บสารเคมีให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยนําไปรับประทาน

5. ข้อแนะนำทั่วไป

          ติดอุปกรณ์ตรวจจับควัน (smoke detector) ภายในบ้านและตรวจสอบการทำงานสม่ำเสมอ รวมถึงจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินและที่อยู่บ้านไว้ใกล้กับโทรศัพท์ ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมจะช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้น

ข้อแนะนำ สำหรับการออกแบบ สภาพแวดล้อมที่พักอาศัยของสูงอายุของประเทศไทย เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์

            - สวิตซ์ไฟ สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการก้ม หรือ เอื้อมจนเกิดอาการบาดเจ็บ 
            - เตียงนอน สูงจากพื้น 40 เซนติเมตร หรือระดับข้อพับเข่า และมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร พื้นที่ว่างรอบเตียง 3 ด้าน ด้านละประมาณ 90 เซนติเมตร
            - โถส้วมในห้องน้ำ ควรเป็นแบบนั่งราบ ห่าง จากฝาผนัง ประมาณ 45 เซนติเมตร ส่วนสูงจากพื้นถึงฝารองนั่งประมาณ 45 เซนติเมตร

           การจัดการด้านสถาพแวดล้อม ของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ควรวางแผนในการดูแลผู้สูงอายุในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับรายบุคคล อย่างไรก็ตามควรปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น การเปลี่ยนแปลงต้องไม่เร็วจนเกินไป จนทำให้ผู้สูงอายุสับสน ลดสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มีความปลอดภัย คงความสามารถในการช่วยเหลือตนเองดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

1. ดุจปรารถนา พิศาลสารกิจ. การจัดที่พักอาศัยและสภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม. ใน: วีรศักดิ์ เมืองไพศาล, บรรณาธิการ. การป้องกัน การประเมินดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม. พิมพ์ครั้งที่5. กรุงเทพฯ:  ภาพพิมพ์จำกัด; 2562. หน้า 169-174

2. กนกพร ภิญโญพรพาณิชย์. การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์. ใน: มณี ภิญโญพรพาณิช,  กนกพร ภิญโญพรพาณิชย์,  อธิวัฒน์  สุนทรพันธ์, บรรณาธิการ. อัลไซเมอร์ การดูแลแบบองค์รวมและประเด็นกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่2. เชียงใหม่:  ทริคธิงค์; 2563. หน้า 131-151.

3.ไตรรัตน์ จารุทัศน์และคณะ.และการออกแบบสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยของสูงอายุของประเทศไทย เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด