วัคซีนไข้หวัดใหญ่...ในผู้สูงอายุ
ภาควิชาอายุรศาตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ไข้หวัดใหญ่โรคร้ายควรระวัง ในสถานการณ์โควิด 19
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มีการแพร่ระบาดทั้งปี โดยพบสูงสุดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในขณะที่โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่งผลให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้รุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
อาการของไข้หวัดใหญ่ คล้ายคลึงกับโควิด19 คือ ไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว น้ำมูก ไอ เจ็บคอ กรณีอาการไม่รุนแรงมักหายเองใน 3-5 วัน ส่วนน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่สูงสุด
ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุต่างจากไข้หวัดในคนทั่วไปอย่างไร
ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องนอน โรงพยาบาล และเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1. ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย (Immunosenescence) คือ ภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ ได้น้อยลง และมีข้อมูลว่าผู้สูงอายุมีการตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐานได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับคนอายุน้อย
2. โรคประจำตัว (Underlying disease) เช่น โรคไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และไข้หวัดใหญ่อาจจะทำให้โรคประจำตัวเดิมกำเริบ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด เป็นต้น
3. ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ (Frailty) คือ ภาวะสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในผู้สูงอายุ
ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้หรือไม่
- ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องฉีดซ้ำทุกปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันตกลง และมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธ์ของวัคซีนทุกปี
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่มีอายุ ≥6 เดือนทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนเมษายน) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม)
- วัคซีนปัจจุบันมีให้เลือก ชนิด 3 สายพันธ์ และชนิด 4 สายพันธ์ นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุ ≥ 65 ปี อาจพิจารณาใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) เพื่อการป้องกันที่ดียิ่งขึ้น
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาด (high dose flu vaccine) มีประโยชน์อย่างไรในผู้สูงอายุ
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่รุ่นใหม่ คือวัคซีนชนิด (high dose) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้กระตุ้นภูมิในผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น โดยในผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาจพิจารณาให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) ขนาด 0.7 ml โดส ฉีดเข้ากล้ามเนื้อปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีปริมาณวัคซีนมากกว่าขนาดมาตรฐาน 4 เท่า
ข้อมูลการศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น 24.2 % และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 48.9 % เมื่อเทียบกับวัคซีนขนาดมาตรฐาน
ปัจจุบันมีการใช้ (Flu high dose) ไปแล้วมากกว่า 202 ล้านโดสทั่วโลก จากการติดตามกว่า 10 ปี พบผลข้างเคียง เช่น ไข้ ปวดบวมแดงร้อนตรงตำแหน่งที่แด มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน แต่ไม่พบอาหารพึงประสงค์ที่เป็นอันตรายร้ายแรงเพิ่มขึ้น
เลือกวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง เพื่อมอบสิ่งที่ดีกว่าเดิมให้แก่ผู้สูงอายุที่คุณรักได้แล้ววันนี้ โปรดปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่านก่อนการรับวัคซีน