
กะเพรากับศาสตร์การแพทย์แผนไทย
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum tenuiflorum L. (๑)
ชื่อวงศ์ LAMIACEAE (๑)
ชื่ออื่น ๆ กะเพราขน, กะเพราขาว, กะเพราแดง, กอมก้อ, กอมก้อดง, ห่อกวอซู, ห่อตูปลู, อิ่มคิมหลำ, อีตู่ไทย, Holy basil (๒)
สรรพคุณตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย :
ใบกะเพรา รสเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด (๓-๔)
วิธีใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ :
นำใบกะเพราและยอดกะเพรา ๑ กำมือ (ถ้าสดหนัก ๒๕ กรัม แห้ง ๔ กรัม) ล้างน้ำให้สะอาด นำมาต้มในน้ำให้เดือด ต้มเดือดประมาณ ๑๕ นาที กรองเอาน้ำดื่ม เมื่อมีอาการ รับประทาน ๑ แก้วกาแฟ (๔) หรือนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน เช่น ผัดกะเพรา โป๊ะแตก
นอกจากนี้ยังพบการใช้กะเพราเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาประสะกะเพราตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งมีข้อบ่งใช้ คือ บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ (๕)
งานวิจัยของกะเพราในสัตว์ทดลอง
ฤทธิ์การต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของน้ำมันระเหยยาก (Fixed oil) จากเมล็ดกะเพราแห้ง ต่อสารก่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในหนูที่ระดับยา ๑, ๒ และ ๓ มล./กก. ที่ฉีดเข้าทางหน้าท้อง สามารถลดดัชนีการเกิดแผลในกระเพาะอาหารขึ้นกับขนาดยาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากรับประทานยาแอสไพริน ๕๐๐ มก./กก. และยาอินโดเมทาซิน ๒๐ มก./กก. นอกจากนี้ยังป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากรับประทานเอธานอล ๕๐% (๕ มล./กก.) ขึ้นกับขนาดยาอย่างมีนัยสำคัญ (๖)
จากข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยของใบกะเพราเกี่ยวกับฤทธิ์ทางระบบทางเดินอาหาร มีเพียงงานวิจัยของเมล็ดกะเพราด้านฤทธิ์การต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง จึงแนะนำให้ใช้ใบกะเพราตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย คือ ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการรับประทานเป็นส่วนประกอบในอาหาร หากนำมาใช้รับประทานเป็นยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์
เอกสารอ้างอิง
- Plants of the world online. Ocimum tenuiflorum L. [Internet]. [cited 2023 Mar 21]. Available from: https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:453130-1
- Thai plant names. กะเพรา [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ ๒๑ มี.ค. ๒๕๖๖]. เข้าถึงได้จาก: https://botany.dnp.go.th/mplant/words.html?keyword=กะเพรา
- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ท่าเตียน พระนคร. ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคหนึ่ง) ว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุและสัตว์วัตถุนานาชนิด. กรุงเทพฯ; ๒๕๒๑.
- สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานสำหรับบุคลากรสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๓๓.
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง, ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
- Surender Singh, D.K Majumdar. Evaluation of the gastric antiulcer activity of fixed oil of Ocimum sanctum (Holy Basil). Journal of Ethnopharmacology 1999;65:13-19.