รู้จักอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดในผู้สูงอายุ
นางสาวอนัญญา ตรีวิสูตร นักจิตวิทยาคลินิก
คลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภาวะโภชนาการที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีความชุกของภาวะขาดสารอาหารร้อยละ 5-10 และมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารถึงร้อยละ 42.6 ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยทางสรีรวิทยา จิตวิทยา เศรษฐกิจและสังคม เช่น การเคี้ยวกลืนที่ลำบาก การเบื่ออาหาร ส่งผลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง การมีโภชนาการที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากหากมีพฤติกรรมที่รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อภาวะขาดสารอาหารหรือการมีน้ำหนักตัวที่มากเกินได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา
วันนี้ทางคลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สนใจ อาการเบื่ออาหารเมื่อก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ความรู้ด้านอาหารเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรง มาฝากกันค่ะ
สาเหตุทางกายภาพ
เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น มีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อสำหรับการเคี้ยวอาหาร มีปัญหาสุขภาพฟัน เช่น ฟันหลุดหรือหัก และไม่ได้ใส่ฟันปลอม ทำให้การบดเบี้ยวอาหารให้ละเอียดเป็นไปได้ยากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีภาวะกลืนลำบาก มีอาการสำลักอาหารและน้ำบ่อย ๆ ความสามารถในการรับรสและกลิ่นลดลง รับรสได้ไม่เต็มที่ จนเบื่ออาหาร แม้ว่าอาหารนั้นจะเคยเป็นของที่ชอบแค่ไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
สาเหตุทางจิตใจ
ภาวะอารมณ์มีความสัมพันธ์ต่อความพึงพอใจในการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ เมื่อเกิดภาวะความเครียด หรือต้องรับประทานอาหารคนเดียว ก็เป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อยลง รวมถึงไม่มีข้อมูลรับรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการส่งผลให้ความพอใจในการรับประทานอาหารน้อยลงได้เช่นกัน
ปรับรูปแบบการรับประทานอาหาร
1.การดัดแปลงอาหารและวิธีการปรุงจะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานได้ง่ายขึ้น โดยอาหารควรมีขนาดชิ้นเล็กเนื้อสัมผัสที่นิ่มเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อละเอียด และมีความชุ่มน้ำ เพื่อลดความเร็วในการกลืนจากปากลงสู่คอหอย ป้องกันการสำลักอาหาร และภาวะปอดอักเสบ เช่น การหั่นผลไม้และเนื้อสัตว์เป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ง่ายต่อการรับประทาน หรือรับประทานอาหารประเภทซุป โจ๊ก ข้าวต้ม จับฉ่าย เป็นต้น
2. รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและปรุงสุกใหม่ส่งผลให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ จัดเมนูผัดและแกงกะทิ แต่พอควร เลี่ยงอาหารทอด ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
3. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องฟัน จึงส่งผลต่อการรับประทานอาหารและเคี้ยวอาหาร ดังนั้นการมีสุขภาพฟันที่ดีหรือการมีฟันปลอมที่พอดีกับช่องปากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวและกลืนอาหารเป็นได้อย่างปลอดภัย
แนวทางการดูแล ควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที และไม่กินอาหาร หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ช่องปากทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
พลังงานและโปรตีนสำคัญอย่างไรในผู้สูงอายุ
พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอจากอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สุงอายุ โดยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีความต้องการพลังงาน 1,500-1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน จากการรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ ก็จะลดลงไปด้วย ประมาณ ร้อยละ 1.5 ต่อปี และลดลงเร็วขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังอายุ 65 ปี การเลือกรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานและโปรตีนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในผู้สูงอายุ
อาหารแนะนำ
โปรตีน ผู้สูงอายุควรรับประทานโปรตีนวันละ 1.0-1.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือเนื้อสัตว์อย่างน้อย 6-8 ช้อนโต๊ะ/วัน โดยเลือกเป็นโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือหนัง ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเคี้ยวลำบากและย่อยยาก ดังนั้น อาจเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา ผลิตภัณฑ์จากนม (นมพร่องมันเนย) เต้าหู้ ไข่ขาว ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้แก่ ข้าว ถั่ว ซีเรียล ขนมปังโฮลวีท วิตามินเกลือแร่ นมพร่องมันเนย เต้าหู้ งา ผัก ปลาตัวเล็กตัวน้อย (ผลไม้ รสไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน โดยผลไม้ 1 ส่วน จะประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ) เส้นใยอาหาร ลูกพรุน แอปเปิ้ล ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช ใยอาหารสูงลดอาการท้องผูก น้ำ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มขาดน้ำได้ ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6- 8 แก้วต่อวันให้เพียงพอต่อร่างกาย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือโซดา เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ข้อควรระวัง
การที่รับประทานอาหารน้อยลง มีผลให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุไทย
ข้อแนะนำ
การรับประทานอาหารภายในครอบครัวประจำ อาจช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเบื่อ มีความสดชื่น สดใส และหากเป็นไปได้ควรรับประทานอาหารด้วยกันทุกวัน หรือ หากมีผู้ดูแลอยู่ด้วย อาจให้ผู้ดูแลรับประทานอาหารพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้ท่านไม่รู้สึกเหงา
เมื่อพบว่าผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ควรค้นหาสาเหตุก่อนว่ามาจากเรื่องใด เช่น จากยาที่รักษาโรคประจำตัวซึ่งรับประทานอยู่เป็นประจำ หรือ ปัญหาจากร่างกาย จิตใจ หากอาการเบื่ออาหารยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินปัญหา ให้การวินิจฉัยถึงสาเหตุ วางแผนกําหนดกิจกรรมการ ดําเนินการปฏิบัติ และปรับเป้าหมายในการดูแลตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เหมาะสม
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก
- วีรศักดิ์ เมืองไพศาล. รู้จริงและเข้าใจ สุขภาพผู้สูงวัยและภาวะสมองเสื่อม. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2559.
- สุนทรี ภานุทัต. การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพโภชนาการ. Journal of Ratchathani Innovative Health Sciences : Vol.1 No.1 April-June 2017
- Chuansangeam M.et al. Prevalence and risk for malnutrition in older Thai people: A systematic review and meta-analysis. Asia Pac J Clin Nutr 2022;31(1):128-14.
- ปทิดา สังข์ทอง.นักกำหนดอาหาร.ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Skelton DA, Mavroeidi A. How do muscle and bone strengthening and balance activities (MBSBA) vary across the life course, and are there particular ages where MBSBA are most important? J Frailty Sarcopenia Falls. 2018 Jun 1;3(2):74-84.