ลด/เลิก บุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

         การสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นอกจากควันจากบุหรี่ที่ส่งผลให้เกิดโรคปอด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอดแล้ว สารนิโคตินในบุหรี่ยังส่งผลต่อระบบการทำงานและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบสืบพันธุ์(๑,๒) ซึ่งสารเคมีในบุหรี่และควันบุหรี่จะไปกระตุ้นการทำงานของธาตุไฟในร่างกายให้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อธาตุลมเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการไอ หอบเหนื่อย และลดการทำงานของธาตุน้ำ ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำ ท้องผูก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อธาตุดินทำให้ฟันเหลือง ปอดและลำไส้ผิดปกติ

แนะนำการดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย สำหรับผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่ ดังต่อไปนี้

          กายานามัย คือการดูแลอนามัยของร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผลการวิจัยพบว่าการลดการสูบบุหรี่ร่วมกับการออกกำลังกายจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการลดบุหรี่เพียงอย่างเดียว(๓) ซึ่งอาจใช้การทำท่ากายบริหารฤๅษีดัดตน เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก บ่า และหลัง ได้แก่ ท่าแก้แน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนท่าอื่น ๆ

          จิตตานามัย คือการดูแลอนามัยของจิต การเลิกบุหรี่อาจทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากร่างกายเสพติดสารนิโคติน ดังนั้นควรทำจิตใจให้สงบด้วยการฝึกสมาธิ ปฏิบัติตามหลักศาสนาหรือแนวทางที่ตนยึดถือ เพื่อให้ผ่อนคลายความเครียดและมีจิตใจที่เข้มแข็งในการเลิกบุหรี่ รวมถึงการพัฒนาจิตควบคู่ไปกับการทำกายบริหารฤๅษีดัดตนยังช่วยในการฝึกสมาธิ และทำให้จิตใจสงบ(๔)

           ชีวิตานามัย คือการดูแลอนามัยในการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้วยังแนะนำให้รับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อทำให้ชุ่มคอ เช่น มะนาว มะขามป้อม หรืออมดอกกานพลู ๒-๓ ดอก จะทำให้ชาปากเล็กน้อยเป็นการช่วยลดความอยากบุหรี่(๕) ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบของยาอมสมุนไพรรสกานพลู และยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการลดความอยากบุหรี่ได้ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ(๖) คือ หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H. Rob.)(๗)

วิธีการรับประทานหญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่: 

          วิธีที่ ๑ นำหญ้าดอกขาวแห้งทั้งต้น จำนวน ๒-๓ ต้น (๓-๕ กรัม) เติมน้ำให้ท่วม ต้มจนเดือด จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ ๑๒๕ มิลลิลิตร หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือจิบเมื่อมีความอยากบุหรี่

          วิธีที่ ๒ นำหญ้าดอกขาวผง ๒ กรัม ละลายน้ำร้อน ๑๒๐-๒๐๐ มิลลิลิตร ดื่มหลังอาหารวันละ ๓-๔ ครั้ง ในปัจจุบันนี้ มีผลิตในรูปแบบยาชงสมุนไพร โดยรับประทานครั้งละ ๒ ซองชา (๒ กรัม) 

          ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตไม่ควรรับประทาน เนื่องจากหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง แนะนำให้หาทางเลือกอื่นในการช่วยเลิกบุหรี่ 

          ผลข้างเคียง : ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้งได้(๖) แนะนำให้จิบน้ำเมื่อมีอาการดังกล่าว

            การเลิกบุหรี่จะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของแต่ละบุคคลโดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการเลิกบุหรี่ หากมีความสนใจที่จะใช้สมุนไพรในการช่วยลดความอยากบุหรี่ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช

เอกสารอ้างอิง

๑. National Digestive Diseases Information Clearinghouse. Smoking and the Digestive System. NIH Publication 2013;13-949.
๒. Neal LB. Nicotine addiction. N Engl J Med  2010;362:2295-2303.
๓. พิรุณพร ประเสริฐ. ผลของโปรแกรมการให้คำปรึกษาและส่งเสริมการเดินออกกำลังกายต่อพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; ๒๕๕๗.
๔. โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. กายบริหารฤๅษีดัดตน เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๔. หน้า ๖, ๗๓-๕.
๕. คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์และคลินิกฟ้าใส แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ. บอกลาสิงห์อมควัน ลด ละ เลิก บุหรี่ ด้วยสมุนไพรไทย. [อินเทอร์เน็ต]. ๒๕๖๓ [เข้าถึงเมื่อ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๕]. เข้าถึงได้จาก: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/ttm/smoke-cess/
๖. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๘, ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง. (ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔)
๗. The plant list. Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob. [internet]. 2012 [cited 2022 Mar 20]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/gcc-149577.


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด