โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)

คลินิกผื่นแพ้สัมผัส หน่วยตรวจโรคผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          Rosacea หรือ โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง และร่างแหของหลอดเลือดฝอย บริเวณจมูก แก้ม คาง และหน้าผาก อาจมีอาการแสบคัน หน้าบวม ผิวหนังนูนหนา และอาจมีอาการตาแดง ตาแห้ง เคืองตาร่วมด้วย

         ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการที่บริเวณอื่นนอกเหนือจากใบหน้า ได้แก่ คอ ศีรษะ และหน้าอก เป็นต้น สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชียยังไม่ทราบแน่ชัด บางส่วนเชื่อว่า เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน/หลอดเลือด พันธุกรรม หรือตัวไรขนบนใบหน้า
พบส่วนมากใน
          - คนที่มีผิวขาว
          - เพศหญิง
          - อายุมากกว่า 30 ปี
          - มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบโรซาเชีย
          - มีประวัติสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราปริมาณมาก
          - มีภาวะอ้วน

การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

          สามารถวินิจฉัยจากอาการทางคลินิก ดังต่อไปนี้
           1. มีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                1.1 อาการหน้าแดงบริเวณจมูก แก้ม คาง และหน้าผาก โดยอาจพบอาการกำเริบเป็นระยะ
                1.2 ผิวหนังปลายจมูกมีลักษณะนูนหนาและขรุขระ หรือ

          2. มีอาการดังต่อไปนี้ ≥ 2 ข้อ
                1. ตุ่มนูนและตุ่มหนอง
                2. อาการหน้าแดงซ่าน
                3. ลักษณะร่างแหของหลอดเลือดฝอย
                4. อาการทางตา เช่น พบร่างแหของหลอดเลือดฝอยบริเวณเปลือกตา เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ เป็นต้น

โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชียมี 4 ชนิด ดังนี้

          1. Erythematotelangiectatic มีอาการหน้าแดงตลอดเวลา ร่วมกับพบลักษณะร่างแหของหลอดเลือดฝอยบริเวณใบหน้า อาจพบหน้าบวมร่วมด้วยได้

          2. Papulopustular มีอาการหน้าแดงตลอดเวลา ร่วมกับมีตุ่มนูนหรือตุ่มหนอง อาจทำให้แยกยากจากสิว

          3. Phymatous มีอาการผิวหนังหนาตัวขึ้นและขรุขระ พบได้บ่อยบริเวณจมูก มักพบในผู้ป่วยชาย

          4. Ocular จะมีอาการทางตาโดยพบลักษณะร่างแหของหลอดเลือดฝอยบริเวณเปลือกตา ตาสู้แสงไม่ได้ เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ อาจเกิดเปลือกตาอักเสบและตากุ้งยิงได้

ปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเป็นมากขึ้น ได้แก่
          - อากาศร้อนหรือเย็น
          - แสงแดด
          - การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มร้อน
          - ทานอาหารรสจัด
          - การออกกำลังกาย
          - อารมณ์ เช่น ความเครียด ความโกรธ เป็นต้น
          - การรับประทานยาขยายหลอดเลือด หรือยาลดไขมันบางชนิด

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

        ปรับพฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
          - หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น แสงแดด อากาศร้อน อากาศเย็น
          - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มร้อน
          - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ร้อน
           - หลีกเลี่ยงการทาผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคืองต่อใบหน้า
          - ควรทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ
          - ควรใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวแพ้ง่าย ร่วมกับ

 การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
          - ยาทาภายนอก เพื่อลดการอักเสบและรอยแดง
          - ยาทาและยารับประทานในกลุ่มยาปฏิชีวนะ
          - ยารับประทานกลุ่มเรตินอยด์
          - การเลเซอร์เพื่อลดรอยแดงและเส้นเลือดขยาย
          - ในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตาร่วมด้วย ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

          โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชียเป็นโรคเรื้อรัง มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ใหม่ ขึ้นกับการปฏิบัติตัว ดูแลเอาใจใส่ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบได้


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด