ชวนระวัง ป้องกันโรคไฟลามทุ่ง
ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผิวหนังที่ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือที่เราเรียกว่า โรคไฟลามทุ่ง มีลักษณะอย่างไร ใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้ รวมถึงการดูแลให้ห่างไกลจากโรคนี้ มารู้จักโรคนี้กัน
ลักษณะผิวหนังที่เรียกว่า โรคไฟลามทุ่ง
โรคไฟลามทุ่ง เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังและมีอาการอักเสบร่วมด้วย
ถ้าติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นตื้นก็จะเห็นผื่นแดงมีขอบชัดเจน แต่หากการติดเชื้อลึกลงไปในที่ชั้นหนังแท้และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ก็จะทำให้ผื่นแดงมีขอบที่ไม่ชัดเจน ถ้าการติดเชื้อลามไปที่กล้ามเนื้อจะเรียกว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ซึ่งจะเริ่มเห็นเนื้อตาย ที่มีลักษณะเป็นผื่นสีดำคล้ำ อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ภาวะไฟลามทุ่งและโรคแบคทีเรียกินเนื้อเป็นโรคที่อันตราย อาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือด ควรให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษา
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไฟลามทุ่ง
ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไฟลามทุ่ง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ผู้ที่มีแผลที่เท้า ซึ่งอาจจะเกิดจากการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือการติดเชื้อราบริเวณง่ามเท้า ซึ่งทำให้เนื้อที่ง่ามเท้าเปื่อยแล้วทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อแบคทีเรียไฟลามทุ่ง
2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ดังนั้น ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้ จึงมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดโรคไฟลามทุ่งได้
วิธีป้องกันโรคไฟลามทุ่ง
การป้องกันโรคที่สำคัญ คือ การดูแลไม่ให้เกิดแผลที่เท้า อย่าให้เท้าอับชื้น เพื่อป้องกันการเกิดเป็นเชื้อรารวมทั้งการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่อาจจะทำให้เกิดแผลได้ รวมถึงการควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ก็จะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
สุขอนามัยดี สุขภาพดี ป้องกันได้ด้วยตนเอง