ตาบอดสี ?
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องตาบอดสี และมักมีปัญหาต่อการสมัครเข้าเรียน หรือการทำงานหลายอาชีพด้วยกัน มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
ตาบอดสีเกิดได้อย่างไร
การมองเห็นสีจะเกิดจากแสงสีขาวที่มีส่วนประกอบของคลื่นแสงสีต่าง ๆ เมื่อแสงสีขาวส่องเข้าในตาของเรา ที่จอตาจะมีโคนเซลล์เป็นเซลล์รับแสง โคนเซลล์จะมีอยู่ 3 สี ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว ถ้าคนที่มีความผิดปกติของตัวโคนเซลล์หรือเม็ดสีในโคนเซลล์ก็จะทำให้มีการเห็นสีที่ผิดปกติไป
สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งพบเป็นมาแต่กำเนิด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง หรืออาจจะเป็นภายหลังได้เช่นกันจากโรคของจอตา เส้นประสาทตา หรือจากการได้รับยาบางอย่าง
มีปัญหาการมองเห็นอย่างไรบ้าง
ภาวะตาบอดสีจะแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับน้อย เกิดจากการที่มีเม็ดสีในโคนเชลล์ผิดปกติ คนไข้จะมองเห็นสีมีความสดของสีลดลง เช่น ถ้ามีเม็ดสีแดงผิดปกติคนไข้ก็จะเห็นสีแดงสดน้อยกว่าปกติ การแยกสีระหว่างสีเหลือง สีเขียว สีส้ม ที่มีเฉดคล้าย ๆ กันจะแยกได้ยาก หรือสีม่วงที่มีส่วนผสมของสีแดงและสีน้ำเงิน คนไข้ก็จะเห็นค่อนไปทางสีน้ำเงิน
ระดับปานกลาง คือ การที่โคนเซลล์หายไปตัวใดตัวหนึ่ง คนไข้จะมองเห็นสีนั้นเป็นสีดำ หรือสีเทา เช่น ถ้าโคนเซลล์สีแดงหายไป คนไข้ก็จะมองเห็นสีแดงเป็นสีเทา ส่วนสีม่วงที่ก็จะมองเห็นเป็นสีน้ำ
ระดับที่รุนแรง คือ คนไข้ไม่มีโคนเซลล์ทั้ง 3 ตัวจะไม่มีการมองเห็นสี ในกลุ่มนี้จะมีระดับสายตาที่ลดลงกว่าปกติและมีตาสั่นร่วมด้วย
รักษาได้อย่างไร
สำหรับภาวะตาบอดสีที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด จะไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด ตัวเครื่องมือที่ใช้ช่วยคนไข้ที่มีภาวะตาบอดสี เช่น การใช้แว่นที่มีการย้อมสีข้างใดข้างหนึ่ง หรือการใช้คอนแทคเลนส์ ตัวนี้จะทำให้สามารถรับรู้สีได้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการรักษา
จะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการตาบอดสี
ถึงแม้ว่าภาวะตาบอดสียังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนั้นแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสีในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในครอบครัวมีประวัติมีภาวะตาบอดสี ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะตาบอดสี ผู้ป่วยสามารถเพิ่มความระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการแยกแยะของสี มีการวางแผนการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต