กระดูกพรุน

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบำบัด
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

          คนที่ร่างกายปกติ แต่พอนานวันเข้าความสูงของร่างกายกลับลดลงได้เอง  ลักษณะแบบนี้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้จริงหรือไม่ มาหาคำตอบกับเรื่องนี้กัน

          โรคกระดูกพรุน เกิดจากการลดลงของปริมาณกระดูกในร่างกาย ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก เป็นผลให้ความแข็งแรงของกระดูกโดยรวมลดลง  และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้หลายตำแหน่ง เช่น กระดูกข้อสะโพก กระดูกข้อมือ หรือกระดูกสันหลัง  และผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีอาการใด ๆ 

          โดยทั่วไปในผู้สูงอายุที่มีความสูงลดลง  อาจจะต้องวินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะว่าอาจจะมีความสูงลดลงจากภาวะกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุนได้ หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม และทำให้กระดูกสันหลังโก่ง  โค้งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ความสูงของผู้ป่วยลดลงได้เช่นกัน  ซึ่งเราควรจะต้องสงสัยภาวะกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน หากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมีความสูงลดลง  2  เซนติเมตรต่อปี หรือส่วนสูงลดลง 4 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับความสูงในช่วงวัยหนุ่มสาว  หากมีลักษณะแบบนี้ควรต้องสงสัยและมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป

          ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในผู้หญิงที่มีภาวะหมดประจําเดือนก่อนวัยอันควร เช่น ถูกตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ก่อนอายุ 45 ปี  ในกรณีของผู้ชาย เราใช้เกณฑ์อายุประมาณ 70 ปี  นอกจากนี้ การกินยาบางชนิดก็เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัดรักษา และได้รับการฉายรังสีรักษา รวมถึงผู้ป่วยที่มีพฤติกรรม เช่น การดื่มชา กาแฟที่มากเกินไป ขาดสารอาหารแคลเซียมหรือวิตามินดี  ไม่ค่อยถูกแสงแดด  เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน

          สำหรับการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุน แนะนำให้รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและครบ 5 หมู่ โดยเน้นสารอาหารประเภทแคลเซียม และที่มีวิตามินดีร่วมด้วย ซึ่งวิตามินดีก็อาจจะได้จากแสงแดด ฉะนั้นจึงขอแนะนำให้ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ  ที่เหมาะสม อาจเป็นการเดินธรรมดา การวิ่งเหยาะ ๆ และการรำไทเก๊ก เป็นต้น  หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนจากการกินยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ๆ กรณีนี้แนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาโรคกระดูกพรุน โดยอาจจะทำการวัดมวลกระดูก หากมีข้อบ่งชี้อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด