ไส้เลื่อนในเด็ก
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
โรคไส้เลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ ก็คือ ถ้าเป็นลูกเล็กที่ไม่สามารถบอกอาการได้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าลูกเป็น และต้องสังเกตอาการอย่างไรบ้าง คุณหมอจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคนี้
โรคไส้เลื่อนในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร
ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้อง เลื่อนผ่านช่องทางที่อยู่บริเวณผนังหน้าท้องออกมาสู่ภายนอก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบ ในความเป็นจริงสิ่งที่เลื่อนออกมาอาจเป็นอวัยวะส่วนอื่นภายในช่องท้องก็ได้ เพียงแต่ลำไส้เป็นสิ่งที่พบบ่อยที่สุดที่เลื่อนออกมา ช่องทางที่ไส้เลื่อนออกมานี้เป็นช่องทางที่โดยปกติมีอยู่แล้วในทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ในเด็กส่วนใหญ่ช่องทางนี้มักปิดไปเมื่อใกล้คลอด แต่ในรายที่ช่องทางนี้ยังคงเปิดอยู่ ก็อาจจะมีลำไส้เลื่อนผ่านช่องทางนี้ออกมาสู่ภายนอกได้ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงที่จะพบภาวะนี้มากกว่าเด็กปกติ
คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่อาจจะพบว่ามีก้อนบริเวณขาหนีบข้าง ๆ หัวเหน่า ในเด็กผู้ชายอาจจะโตลงมาถึงในถุงอัณฑะ ในรายที่มีการเลื่อนเข้า ๆ ออก ๆ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เด็กอาจจะไม่รู้สึกว่ารำคาญหรือร้องกวนแต่อย่างใด แต่ในบางรายที่ลำไส้ออกมาติดค้างอยู่ภายนอกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ขาดเลือด ซึ่งอาการในขณะที่มีปัญหาเรื่องลำไส้อุดตัน ก็คือเด็กมักจะร้องกวน รับประทานอาหารไม่ได้ มีอาการอาเจียน ท้องอืด เป็นต้น
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคไส้เลื่อนควรทำอย่างไร
โรคไส้เลื่อนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา วิธีการเดียวที่รักษาได้ผล คือ การผ่าตัดเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะกังวลเรื่องลูกจะต้องผ่าตัด ในความเป็นจริงในปัจจุบัน หากเราเตรียมการ ให้พร้อม การผ่าตัดในเด็กสามารถทำได้ด้วยความปลอดภัย มีผลการรักษาดี เด็กสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ในขณะที่การผ่าตัดในรายที่มีลำไส้เลื่อนออกมาติดค้าง หรือมีลำไส้อุดตันจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นทั้งจากการผ่าตัดหรือการดมยาสลบในภาวะเร่งด่วน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกต และสงสัยถึงความผิดปกติของลูกจากลักษณะอาการที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยทันที สุขภาพดีป้องกันได้ เริ่มที่ตัวเรา