มะเร็งเต้านม
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ที่ทำให้กังวลและกลัวกันมาก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการตรวจหาความผิดปกติด้วยตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและสามารถรักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณของท่อน้ำนม หรือในต่อมน้ำนมที่มีการเจริญเติบโตและควบคุมไม่ได้ จนอาจเกิดเป็นแผลแตกบริเวณผิวหนังเหนือก้อน หรือมีการกระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองที่อวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือบริเวณไหปลาร้า
ปัจจัยเสี่ยง ที่พบบ่อยในปัจจุบัน คือ มีประวัติทางด้านพันธุกรรมของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือโรคมะเร็งรังไข่ในครอบครัว หรือมีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิด หรือเพื่อรักษาภาวะวัยทองเป็นระยะเวลานาน ๆ จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติที่บริเวณเต้านม เช่น การคลำได้ก้อนบริเวณเต้านม ไม่ว่าจะเป็นก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม ก้อนราบเรียบหรือก้อนขรุขระ รวมไปถึงอาการบวม แดง มีผิวหนังดึงรั้งหรือบุ๋มลง รวมไปทั้งหัวนมที่มีการรั้งลงกว่าปกติ มีเลือดออกหรือมีน้ำไหลออกจากบริเวณหัวนม ควรรีบมาพบแพทย์
แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการส่งตรวจพิเศษทางเต้านม เช่น การทำอัลตราซาวด์ และแมมโมแกรม หลังจากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยของมะเร็งเต้านม
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ รวมถึงการผ่าตัดเอาเต้านมออก และอาจทำร่วมกับการสร้างเต้านมใหม่แทนเต้านมเดิมที่ถูกตัดออกไป ซึ่งการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้คุณภาพชีวิตและการรักษาของผู้ป่วยดีที่สุด
ทั้งนี้การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ยังคงมีความสำคัญที่ช่วยในตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำเดือนละครั้ง ตรวจด้วยท่ายืนหรือท่านอนก็ได้ โดยยกแขนข้างที่ต้องการตรวจเต้านมขึ้น หลังจากนั้นใช้มือฝั่งตรงข้ามคลำและวนไปรอบ ๆ เต้านมให้ทั่วบริเวณเต้านม รวมทั้งบีบบริเวณรอบฐานนมว่ามีน้ำออกมาจากหัวนม หรือสังเกตว่ามีความผิดปกติที่ผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยได้ทันท่วงที