โรคตาแดง?

ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            โรคตาแดงเป็นอีกโรคที่พบบ่อยในหน้าหนาว ที่ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้  เนื่องจากว่าติดต่อกันได้ง่าย  และเราสามารถป้องกันการติดต่อจากคนที่เป็นโรคนี้ เพื่อจะได้ดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องกัน

            โรคตาแดง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส โดยโรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก เชื้อไวรัสที่พบส่วนใหญ่คือ adenovirus โดยการสัมผัสกับขี้ตา หรือน้ำตาของคนไข้ที่ติดอยู่บนสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยสัมผัส หรือเกิดจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น เครื่องสำอาง หรือเกิดจากการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำเดียวกัน เป็นต้น

            อาการของโรคตาแดง ส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ อาการปวดเบ้าตาเล็กน้อย เคืองตา คันตา มีน้ำตาไหล ในบางกรณีอาจจะมีขี้ตามากในช่วงเช้าทำให้ลืมตาได้ค่อนลำบาก  อาการส่วนมากจะเป็นอยู่นานประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หลังจากนั้นอาการตาแดงจะค่อย ๆ ดีขึ้น

           ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีภาวะกระจกตาอักเสบจะมีอาการตาพร่ามัว มีแสงแตกกระจายในเวลากลางคืน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นมนช่วงตอนอาการตาแดงดีขึ้นแล้ว  ในกรณีนี้ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

            สำหรับการรักษาโรคตาแดงนั้น สามารถหายได้เอง ดังนั้นการรักษาโรคตาแดงจึงเป็นการรักษาตามอาการโดยใช้ใช้ยาหยอดน้ำตาเทียม เพื่อลดการระคายเคืองตา หรือประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบ แต่ในบางรายที่มีการอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาหยอดตาลดการอักเสบ หรือในบางรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหยอดร่วมด้วย

            วิธีการปฏิบัติตัวง่าย ๆ สำหรับผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น คือ ควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ ไม่ขยี้ตาเนื่องจากจะทำให้อาการอักเสบแย่ลง ควรใช้ทิชชู่หรือสำลีซับน้ำตาหรือขี้ตา และนำไปทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด ไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่นำยาหยอดตามาหยอดในตาข้างที่ไม่มีอาการ งดว่ายน้ำ สำหรับผู้ป่วยที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรงดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการตาแดงจะดีขึ้น