โรคไตอักเสบเฉียบพลันในเด็ก
สาขาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคไตอักเสบเฉียบพลันในเด็ก หมายถึง การอักเสบของกลุ่มหลอดเลือดฝอยและเนื้อเยื่อภายในไตทำหน้าที่กรองสิ่งต่าง ๆ ออกจากเลือด มักเกิดจากการที่ไตถูกรบกวนจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย
สาเหตุ
1. ไตอักเสบภายหลังการติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ แบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ที่มักก่อโรคคออักเสบและแผลตามผิวหนัง
2. โรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) โรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ (IgA)
3. กลุ่มโรคหลอดเลือดอักเสบ
4. โรคพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการอัลพอร์ต (Alport syndrome)
อาการ
1. ปัสสาวะสีแดง ชมพู หรือสีน้ำล้างเนื้อ
2. บวมตามตัว
3. ความดันเลือดสูง
4. อาจมีปัสสาวะออกน้อยลง
การวินิจฉัย
อาศัยประวัติการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
1. การตรวจปัสสาวะพบเซลล์เม็ดเลือดแดงปริมาณมาก
2. ตรวจเลือดประเมินค่าการทำงานของไต ระดับของเสียในเลือดและเกลือแร่ต่าง ๆ และอาจตรวจหาสาเหตุบางอย่างได้
3. การเจาะตรวจชิ้นเนื้อไต หากสงสัยว่าจะไม่ใช่ไตอักเสบภายหลังการติดเชื้อหรือกรณีที่พบว่าการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว
การรักษา
1. หากอาการรุนแรง จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
2. นอนพักมาก ๆ งดกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหรือใช้แรงมาก
3. จำกัดน้ำและอาหารรสเค็มตามแพทย์สั่ง
4. ใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวมและลดความดันเลือด
5. กินยาปฏิชีวนะ 10 วัน หากเป็นไตอักเสบภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
การพยากรณ์โรค
ถ้าเป็นไตอักเสบเฉียบพลันภายหลังการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักจะหายขาด แพทย์จะนัดตรวจเป็นระยะจนแน่ใจว่าปลอดภัยจึงเลิกนัด
ถ้าเป็นจากเหตุอื่นจะควบคุมโรคได้ แต่อาจกลับเป็นซ้ำหรือเกิดความผิดปกติของไตในระยะยาวได้ จึงจำเป็นต้องนัดตรวจติดตามในระยะยาว
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
1. งดกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวมาก เช่น ออกกำลังกายหนักที่ต้องวิ่งหรือกระโดด
2. ดื่มน้ำตามปริมาณที่แพทย์สั่ง และไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมในปริมาณสูงจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
3. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
4. มาตรวจตามนัดทุกครั้ง โดยจะได้รับการวัดความดันเลือดและตรวจปัสสาวะ