การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาบกพร่อง
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
กระจกตาปกติของคนเรามีความใสและผิวเรียบ ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน การที่กระจกตาสามารถคงความใสอยู่ได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา
สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา
ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโรงงานคอยสร้างเซลล์ผิวกระจกตาขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา ทำให้ผิวกระจกตาคงความใสและไม่เป็นแผล ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตาได้ โดยสเต็มเซลล์อยู่ที่ตำแหน่งรอยต่อของกระจกตาและเยื่อตาที่เรียกว่า “ลิมบัส”
ภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง
สาเหตุภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง พบได้ในโรคหลายชนิด เช่น ตาที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี เข้าตา กลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน การติดเชื้อที่กระจกตา การอักเสบที่กระจกตา ตาที่ได้รับการผ่าตัดหลาย ๆ ครั้ง โรคต้อเนื้อขั้นรุนแรง เป็นต้น เมื่อสเต็มเซลล์บกพร่องทำให้มีเส้นเลือดรุกเข้ามาในกระจกตา กระจกตาขุ่น เกิดแผลถลอกที่ผิวกระจกตา กระจกตาติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีสายตามัวลง
การรักษาทำอย่างไรได้บ้าง
ภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง เป็นภาวะที่รักษาได้ยาก ในผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องนั้น เปรียบเสมือนไม่มีโรงงานที่คอยสร้างเซลล์ และไม่มีเขื่อนที่คอยป้องกันเส้นเลือด ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐานไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ และเส้นเลือดยังสามารถรุกเข้ามาในกระจกตาจนบดบังการมองเห็น ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องทำการรักษาโดยการปลูกถ่าย สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา
วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ปัจจุบันมี 3 วิธีที่นิยม คือ
1. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส CLET (Cultivated Limbal Epithelial Transplantation) คือ การใช้ลิมบัสขนาดเล็ก 2x2 มิลลิเมตร ไปเพาะเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการจนเซลล์เจริญเติบโตแผ่ออกมาได้พื้นที่ขนาดประมาณ 3x3 เซนติเมตร แล้วจึงนำมาปลูกถ่ายบนผิวกระจกตาของผู้ป่วย โดย ลิมบัสที่นำมาเพาะเลี้ยงได้จากตาที่ดีอีกข้างของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเป็นโรคทั้งสองตา จะใช้ลิมบัสจากญาติสายตรง หรือตาบริจาคของผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งหากเป็นลิมบัสจากผู้อื่น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิเพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน
2. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก COMET (Cultivated Oral Mucosal Epithelial Transplantation) คือ การใช้เยื่อบุปากของผู้ป่วยขนาดเล็ก 5x5 มิลลิเมตร เพาะเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงนำมาปลูกถ่ายบนผิวกระจกตาของผู้ป่วย เนื่องจากเซลล์เยื่อบุปาก มีคุณลักษณะคล้ายเซลล์ผิวกระจกตา อีกทั้งเป็นเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องได้รับยากดภูมิ
3. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple Limbal Epithelial Transplantation) คือ การตัดเนื้อเยื่อบริเวณลิมบัสมาขนาดประมาณ 2x2 มิลลิเมตร คล้ายวิธีที่ 1 แต่ไม่ต้องนำเนื้อเยื่อนั้นไปเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ สามารถนำมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เป็นจำนวน 20 - 30 ชิ้น วางบนกระจกตาผู้ป่วยที่ลอกเอาพังผืดออก และวางเยื่อรกคลุมผิวกระจกตาไว้แล้ว หลังจากนั้นเซลล์สามารถเจริญเติบโตออกมาจากลิมบัสชิ้นเล็ก ๆ จนเต็มผิวกระจกตาได้ ดังนั้นวิธีนี้ใช้หลักการเลียนแบบการเพาะเลี้ยง แต่ปลูกถ่ายโดยตรงในตาผู้ป่วยโดยไม่ต้องอาศัยการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ โดยเทคนิคศิริราช พบว่า การผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่าย สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยงนี้ สามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วยประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี มีความสำเร็จในการรักษาสูงทัดเทียมกับวิธีการเพาะเลี้ยง อีกทั้งมีความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษากว่าการเพาะเลี้ยง เนื่องจากไม่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการ
ดังนั้นแนวทางการรักษาผู้ป่วยภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องของโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน จึงพิจารณาทำการผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง (SLET) หากผู้ป่วยไม่เหมาะสมที่จะทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จะพิจารณาผ่าตัดตามวิธีที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย