
การผ่าตัดส่องกล้องรักษาอาการบาดเจ็บข้อมือ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อาการบาดเจ็บของข้อมือในปัจจุบันพบบ่อยมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไป เช่น ขี่จักรยาน เล่นโยคะ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนมากขึ้น (เอ็นยึดข้อมือฉีกขาด) นอกจากอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บในกิจวัตรประจำวัน เช่น ปิด-เปิดลูกบิดประตู คว่ำมือยกของ ผลักประตูให้เปิดออก เป็นต้น
การรักษา
การรักษาเอ็นข้อมือฉีกขาดในสมัยก่อน ส่วนใหญ่ใช้การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด แต่จะให้การรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าที่เอ็นข้อมือ และใส่ที่ประคองข้อมือหรือเข้าเฝือก ในบางกรณีอาจมีการผ่าตัดโดยการลงมีดบนผิวหนัง (ผ่าตัดแบบเปิด) ซึ่งมีข้อเสีย คือ แผลมีขนาดใหญ่ และภายหลังการผ่าตัดมีพังผืดเกิดขึ้นตามขนาดแผลที่มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อมือลดลงเนื่องจากเกิดพังผืด
มิติใหม่ของการรักษาที่ศิริราช
สำหรับศิริราชเริ่มมีการผ่าตัดส่องกล้องรักษาอาการบาดเจ็บเอ็นข้อมือ โดยการริเริ่มของ ผศ.พญ.สายชล ว่องตระกูล โดยที่เป็นผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยในการส่องกล้องข้อมือ หลังจากท่านอาจารย์สำเร็จการศึกษาดูงานที่ Christine M Kleinert Institue for Hand & Microsurgery ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2544 หลังจากนั้นก็มีการผ่าตัดส่องกล้องการผ่าตัดส่องกล้องรักษาอาการบาดเจ็บข้อมือมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนถึงในปี 2561 ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับ ชมรมศัลยแพทย์ทางมือแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ออร์โธปิดกส์แห่งประเทศไทย ได้จัดการฝึกอบรมการผ่าตัดส่องกล้องข้อมือและข้อศอก ซึ่งถือว่าเป็นการจัดประชุมฝึกอบรมครั้งแรกในประเทศไทย ไม่เคยมีการจัดมาก่อน ให้แก่ศัลยแพทย์ชาวไทยผู้สนใจในการผ่าตัดส่องกล้องดังกล่าวมาร่วมประชุม
กระบวนการผ่าตัดส่องกล้อง
เนื่องจากข้อมือเป็นข้อที่มีขนาดเล็ก จึงต้องมีอุปกรณ์จำเพาะในการดึงข้อมือเพื่อให้ข้อต่อมีช่องว่างเพียงพอที่จะใส่กล้องขนาดเล็กผ่านเข้าไปในข้อต่อเพื่อช่วยในการรักษาผ่าตัด เช่น เย็บซ่อมเอ็น ใส่โลหะยึดกระดูกข้อมือที่หัก
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้
1. เป็นการส่องกล้องขนาดเล็ก ดังนั้นแผลผ่าตัดจึงมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิด และเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
2. ในการผ่าตัดจะมีการใช้กล้องขยายส่องดูภายในข้อต่อ จึงสามารถเห็นพยาธิสภาพหรืออาการบาดเจ็บ อาการผิดปกติได้ชัดเจนกว่าการมองด้วยตาเปล่า ส่งผลดีต่อการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาและการลงมือผ่าตัดรักษา
ข้อจำกัด
แม้ว่าการผ่าตัดส่องกล้องรักษาอาการบาดเจ็บข้อมือ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของข้อมือ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่ข้อมือไม่มั่นคง หลวม มีอาการเจ็บพร้อมอาการข้อมือหลวม ซึ่งบางรายไม่มีประวัติอุบัติเหตุที่ชัดเจน เช่น ขี่จักรยานตกหลุมแต่ข้อมือไม่ได้รับการกระแทกดดยตรง ยกของหนักจนบางครั้งได้ยินเสียง “กึก” และปวดที่ข้อมือ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด
ความพร้อมของศิริราช
ศิริราชมีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าว เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการผ่าตัดส่องกล้องข้อมือ มีทีมพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทางสามารถช่วยในกระบวนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี และยังมีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
ในอนาคต ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด มีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดพัฒนาและฝึกอบรมเทคนิคการผ่าตัดดังกล่าวไปยังวงกว้าง โดยจะมีการฝึกอบรมศัลยแพทย์ออร์โธฯ ที่มีความสนใจจากทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และพร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างต่อไป