รังสีศัลยกรรม

อ.พญ.อชิรญา เตยะธิติ

ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             การฉายรังสีเป็นหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับ การผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด โดยเทคนิคการให้รังสีมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับลักษณะของแต่ละโรค มาทำความรู้จักกับเทคนิคที่เรียกว่า “รังสีศัลยกรรม” กัน

            รังสีศัลยกรรม หรือ รังสีร่วมพิกัด เป็นการรักษาโดยการให้รังสีเอกซ์ปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทั้งบริเวณสมอง ไขสันหลัง และบริเวณลำตัว เช่น ปอดและตับ

            รังสีศัลยกรรมมีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป โดยรังสีศัลยกรรมจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1 - 5 ครั้ง ซึ่งต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไปที่ใช้ระยะเวลานานหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ รังสีศัลยกรรมสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป จึงเหมาะสำหรับการรักษาเนื้องอก หรือมะเร็งที่มีขนาดเล็ก มีขอบเขตชัดเจน และอาจจะมีอวัยวะสำคัญอยู่ใกล้เคียง

            อย่างไรก็ตาม รังสีศัลยกรรมต้องการความแม่นยำที่สูงกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป ดังนั้นในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยจำเป็นต้องถูกจำกัดให้มีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด และจะต้องมีการเอกซเรย์ตรวจเช็คตำแหน่งของผู้ป่วยเป็นระยะ

            รังสีศัลยกรรมสามารถใช้ในการรักษาโรคได้หลากหลาย เช่น เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกเส้นประสาทสมอง เนื้องอกไขสันหลัง โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งที่แพร่กระจายไปสมอง มะเร็งที่แพร่กระจายไปตับ และมะเร็งที่แพร่กระจายไปปอด

รังสีศัลยกรรมเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ในการรักษาทั้งโรคมะเร็งและเนื้องอก รวมทั้งให้การรักษาได้หลายตำแหน่งในร่างกาย อย่างไรก็ตาม รังสีศัลยกรรมก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวัง ดังนั้นแพทย์ผู้ให้การรักษาจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการรักษา และเกิดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด