ไวรัส อาร์เอสวี (RSV)
พญ.สุชาดา เรืองเลิศพงศ์
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
น้องอุ๋งอิ๋งวัย 2 ปี มีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยในบ่ายวันหนึ่งหลังจากคุณแม่รับกลับจากเนอสเซอรี่ ทีแรกคุณแม่คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาจึงให้น้องอุ๋งอิ๋งรับประทานยาลดไข้และยาแก้ไอ หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน น้องอุ๋งอิ๋งมีอาการไอมาก ไอจนอาเจียนหลายครั้ง หายใจเหนื่อยมากอย่างน่าสงสาร หน้าอกบุ๋ม มีเสียงหายใจดังวี้ด และรับประทานอาหารได้น้อยลง คุณแม่เห็นว่าอาการไม่ค่อยสู้ดี จึงรีบพาน้องอุ๋งอิ๋งไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณหมอเด็กตรวจอาการแล้วรีบนำตัวเข้ารักษาในไอซียูทันที คุณหมอได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจ ให้การรักษาโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน พ่นยาขยายหลอดลม ดูดน้ำมูกและเสมหะ รวมถึงให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ คุณหมอได้แจ้งคุณแม่ในเวลาต่อมาว่าน้องอุ๋งอิ๋งเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี น้องอุ๋งอิ๋งต้องนอนรักษาตัวในไอซียู 3 คืน และย้ายมารักษาต่อที่ห้องสามัญอีก 4 คืน หลังกลับจากโรงพยาบาลคุณแม่ได้ไปแจ้งเรื่องอาการป่วยของน้องอุ๋งอิ๋งกับทางเนอสเซอรี่ ทำให้คุณแม่ได้ทราบจากคุณครูว่าขณะนี้มีเด็กๆ หยุดเรียนกันหลายคนเนื่องจากติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี หลังจากได้รับรู้ข้อมูลที่น่าตกใจนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายในใจของคุณแม่ อาร์เอสวีคืออะไร เด็กๆ ติดเชื้อได้อย่างไร จะป้องกันและรักษา โรคนี้อย่างไร ฯลฯ
ในช่วงหน้าฝน นี้เราจะพบว่ามีโรคมากมายเกิดขึ้นในเด็กโดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่ทำให้เด็กๆ เป็นหวัด และอาจลามลงหลอดลมและปอด สาเหตุมักเกิดจากไวรัสซึ่งมีมากมายหลายชนิด จึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับไวรัสระบบทางเดินหายใจที่สำคัญตัวหนึ่ง คือไวรัสอาร์เอสวี ซึ่งเป็นไวรัสที่ได้รับการกล่าวขวัญมากในระยะหลัง เพราะมีการระบาดหนักในเด็กเล็กๆ ในช่วงอากาศเย็นๆ
ไวรัสอาร์เอสวี มักทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก และแพร่ระบาดได้รวดเร็วทำให้เด็กป่วยพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากโรคมีความรุนแรงกว่าหวัดทั่วๆ ไป ทำให้เด็กมีอาการหอบเหนื่อยหรือมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วยจนอาจจะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลบางรายมีอาการรุนแรงถึงขนาดต้องเข้าไอซียู
ไวรัส RSV เป็นไวรัสชนิดที่มีเปลือกหุ้ม มีชื่อเต็มว่า Respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อย เด็กๆแทบทุกคนมักเคยติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีตั้งแต่วัยเด็กเล็กคนทุกกลุ่มอายุสามารถติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้ส่วนมากอาการไม่รุนแรง มักหายป่วยภายใน 1 2 สัปดาห์ แต่อาจจะพบว่ามีอาการรุนแรงได้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี คลอดก่อนกำหนด มีโรคหัวใจหรือโรคปอดร่วม นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเช่นเดียวกับเด็กเล็กได้ และอาจรุนแรงมากกว่าได้จากโรคร่วมที่มีอยู่
อาการของการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
ผู้ป่วยมักจะมีอาการ 4-6 วันหลังได้รับเชื้อ อาการโดยทั่วไปอาจเป็นเพียงหวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ที่มักพบในเด็กเล็กคือ หลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งจะทำให้เด็กมีอาการคล้ายหอบหืด อาการที่พบมีดังนี้
- มีไข้ ไอ จาม และน้ำมูก
- รับประทานอาหารได้น้อยลง
-หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด
- อาจจะพบอาการร้องกวน ซึมลง ในเด็กทารก
การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
ไวรัสอาร์เอสวีติดต่อโดยการไอจาม โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เชื้อไวรัสอาร์เอสวีเข้าผ่านทางจมูก ปาก และเยื่อบุตาและทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ยังสามารถได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของ เช่น ของเล่น ภาชนะ เฟอร์นิเจอร์ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยได้อีกด้วยโดยเชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของได้นานเป็นวันถ้าไม่มีการทำความสะอาด และบนมือของเราได้นานอย่างน้อย 30 นาที
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน เด็กทั่วไปสามารถรับเชื้อได้จากนอกบ้าน เช่น ที่โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และยังสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับบุคคลอื่นในบ้านต่อได้ ผู้ที่เลี้ยงดูเด็กจำนวนมาก สามารถส่งผ่านเชื้อได้หากไม่ล้างมือหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของเด็กที่ติดเชื้อ เด็กๆที่ใช้ของเล่นร่วมกัน หรือเล่นในพื้นที่เดียวกัน อาจส่งต่อเชื้อกันได้ เด็กๆมักเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไปให้เด็กอื่นที่เลี้ยงร่วมกัน หรือร่วมชั้นเรียน รวมถึงผู้สูงอายุในบ้าน
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
เนื่องจากอาการของโรคจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวีอาจแยกไม่ได้จากไวรัสระบบทางเดินหายใจตัวอื่นๆ แต่มักรุนแรงกว่า แพทย์จะสงสัยโรคนี้ในเด็กเล็กที่มีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด แต่การวินิจฉัยให้รู้แน่ต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ดีการตรวจเพื่อให้รู้เชื้อไม่มีความจำเป็นในผู้ที่อาการไม่หนัก เพราะการรักษาไม่แตกต่างจากไวรัสระบบทางเดินหายใจตัวอื่นๆ แพทย์มักจะตรวจหาเชื้อโดยการป้ายโพรงจมูกไปตรวจในกรณีที่มีอาการหนัก นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการถ่ายเอกซเรย์ปอด หากสงสัยว่าการติดเชื้อนั้นได้ลุกลามจนเกิดภาวะปอดอักเสบ
การรักษาการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
ในขณะนี้ยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับการติดไวรัสอาร์เอสวี การรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการ เช่น การทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ การดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำและรักษาร่างกายให้อบอุ่น ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องได้รับการรับตัวรักษาในโรงพยาบาลสามารถทานยาและพักผ่อนที่บ้านได้
ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคอื่นๆร่วม และผู้สูงอายุจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงได้แก่อาการไข้สูง ซึมลง มีภาวะหายใจหอบเหนื่อยหรือภาวะการขาดน้ำ แนะนำให้พามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและพิจารณารับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล การรักษาในโรงพยาบาลจะเน้นเรื่องของการรักษาตามอาการเช่นเดียวกัน เช่น มีการให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการหอบเหนื่อย การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในรายที่มีภาวะการขาดน้ำและอาจมีการให้ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
ไวรัสอาร์เอสวีทำให้เกิดโรคหอบหืดได้จริงหรือไม่
เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีมักทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการบวมและเกิดกระบวนการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการอักเสบ จึงอาจทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงวี๊ดเมื่อได้รับการติดเชื้อครั้งต่อๆมา อาการอาจคล้ายๆ เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ทำให้ต้องรับยาพ่นขยายหลอดลม อย่างไรก็ตามภาวะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวร อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในเด็กหลายๆคน โดยเฉพาะที่มีพันธุกรรมด้านโรคหอบหืด ภูมิแพ้ อาจมีภาวะหลอดลมอักเสบเวลาเป็นหวัดอยู่ได้นาน หรือกลายเป็นหอบหืดในเวลาต่อมาเลย ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีทำให้เกิดโรคหอบหืดโดยตรง การเกิดโรคหอบหืดเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรวมถึงปัจจัยทางกรรมพันธุ์ด้วย
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีแต่เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย
- ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด ควรสอนให้เด็กๆล้างมืออย่างถูกต้อง และรักษาสุขอนามัยส่วนตัว
- หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ๆมีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในขณะที่มีการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้
- ผู้ป่วยควรงดการออกนอกบ้านช่วงที่ไม่สบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม