โรคลมชัก

โรคลมชัก

อ.นพ.ศรัทธาวุธ  วงษ์เวียงจันทร์ 

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หลายคนมักสงสัยว่าคนที่เป็นโรคลมชัก เกิดจากอะไร เป็นโรคนี้จะหายหรือไม่ เมื่อพบเห็นจะช่วย เหลือได้อย่างไร มีรายละเอียดมาบอกกัน

โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อเกิดการผิดปกติจึงทำให้เกิดอาการชักขึ้นมาได้ โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความพิการแต่กำเนิด หรืออะไรก็ตามที่มีความผิดปกติต่อเนื้อสมอง เช่น เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมอง รวมถึงผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนต่อเนื้อสมอง

            อาการของคนที่เป็นโรคลมชักมักมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเนื้อสมองบริเวณไหนที่มีความผิดปกติ อาการชักที่พบบ่อย ๆ เช่น มีอาการเกร็ง หรือมีอาการกระตุกสามารถเกิดในบางส่วนของร่างกายก่อน เช่น หน้า แขน มือ แล้วลุกลามไปทั้งตัว หรือในบางรายอาจมีการเกร็งกระตุกทั้งตัวตั้งแต่แรกได้  ส่วนอาการชักอื่น ๆ ที่พบบ่อยแต่คนไข้อาจไม่รู้สึก คือ การชัก นั่นคือ การชักมือ อาการชักมือ คนไข้จะมีอาการเหม่อลอยรวมกับมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายบางส่วน เช่น เคี้ยวปาก เอามือจับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จับเสื้อผ้า จับสิ่งของ หรือจับคนรอบข้าง ซึ่งระหว่างที่มีอาการผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว  อาการชักจะมีอยู่ประมาณ 2 - 3 นาทีแล้วจะหยุดเอง คนไข้บางรายจะมีอาการเตือนก่อนอาการชัก อย่างเช่นที่เราพบบ่อย ๆ จะรู้สึกใจสั่น แน่นลิ้นปี่ หรือได้ยินเสียงผิดปกติ  อาการนำจะอยู่ในระยะสั้น ๆ ก่อนมีอาการชักประมาณ 5 - 10 วินาทีแล้วจะลุกลามต่อไปขั้นชักโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว

            เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจสแกนสมอง เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักแล้ว การรักษาหลัก คือ การรับประทานยากันชัก  ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดในท้องตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรักษาด้วยยากันชัก  สิ่งที่สำคัญควบคู่กับการรับประทานยากันชัก คือ การป้องกันปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการชัก  เช่น การอดหลับอดนอน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากการรับประทานยากันชัก และควบคุมปัจจัยกระตุ้นการชักแล้ว แพทย์จำเป็นต้องแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น การไปว่ายน้ำคนเดียว การขับรถ หรือการทำกิจกรรมในที่สูง เมื่อเกิดอาการชักขึ้นมาจะเกิดอันตรายได้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อควบคุมโรคหรือรักษาให้หายขาด

            ที่สำคัญ เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชักเกร็งกระตุก อย่างแรกต้องตั้งสติ  อย่าตกใจ ประคองผู้ป่วยลงท่านั่งหรือนอนลงในท่าตะแคง เพื่อป้องกันการสำลักและให้การหายใจเกิดขึ้นได้สะดวก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบอกว่า ห้ามเอาช้อนหรือของแข็งเข้าไปในปากเพื่องัดปาก  เพราะจะทำให้ผู้ป่วยฟันหลุดและเข้าไปอุดหลอดลมจนหยุดการหายใจได้  ในขณะเดียวกันผู้ป่วยโดยทั่วไปจะชักอยู่ประมาณ 2-3 นาที ถ้าผู้ป่วยชักเกร็งกระตุกต่อเนื่องเกิน 5 นาทีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียกรถพยาบาลไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด