อาหารวัยทารก
อาหารวัยทารก
ฝ่ายโภชนาการ
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อาหารของทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ให้น้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งธรรมชาติได้ปรับแต่งให้สะอาด มีคุณค่า เพียงพอ และสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่าง ๆ ครบ จะทำให้ลูกเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมอง ลดโอกาสเกิดภูมิแพ้และการติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารอื่น มีโคลอสตรัมหรือนมน้ำสีเหลือง ๆ ช่วงแรกของหลังคลอด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังช่วยระบายขี้เทาซึ่งค้างอยู่ในลำไส้ทารก มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักตัวของแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว
อาหาร ที่เหมาะสมสำหรับทารกทั้งชนิด และปริมาณเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง
สารอาหารที่สำคัญ
- พลังงานและโปรตีน แหล่งอาหารในช่วงแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ดีที่สุดคือนมแม่ หลังจากนั้นเพิ่มเติมจากไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
- ธาตุเหล็ก ร้อยละ 90 ของธาตุเหล็กที่ทารกต้องการได้จากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ดังนั้น หลังอายุ 4 เดือน ทารกที่ทานแต่นมจึงเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก
- ไอโอดีน ช่วยการทำงานของต่อมไธรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมอง และการเจริญเติบโตของร่างกาย ควร ใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
- แคลเซียม จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้รับจากนม
- สังกะสี ช่วยการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย มีมากในเนื้อสัตว์ๆ และอาหารทะเล
- วิตามินเอ เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญคือ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด
จุดประสงค์ของการให้อาหารเสริมในขวบปีแรก
- เพื่อฝึกพัฒนาการกลืน
- การเคี้ยวอาหารที่เปลี่ยนไปจากของเหลวเป็นของแข็ง
- ให้ลูกรับรู้รสชาติอาหารอื่นนอกเหนือจากนม
- เพิ่มสารอาหารให้แก่ลูก เพื่อให้สารอาหารวิตามินเอ วิตามินซี ธาตุเหล็ก โปรตีน
- ฝึกให้ลูกกินเป็นมื้อหลัก เพื่อที่จะรับประทานอาหารเหมือนผู้ใหญ่ หลังอายุ 1 ปี และดื่มนมเป็นอาหารเสริม
คำแนะนำในการให้อาหารทารก
การให้อาหารทารกให้ถูกต้อง เพียงพอและเหมาะสมตามวัยจะช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตดี และมีพัฒนาการที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร มีบริโภคนิสัยที่ดีต่อไป
1. เริ่มให้อาหารทีละน้อยในระยะแรก เพื่อให้ทารกฝึกการใช้ลิ้น ริมฝีปากและการกลืน
2. เริ่มให้ทีละอย่าง และเว้นระยะ 1-2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มให้อาหารชนิดใหม่ เพื่อสังเกตอาการแพ้
3. จัดอาหารให้หลากหลายชนิด เพื่อสร้างความคุ้นเคย
4. จัดชนิดอาหารให้เหมาะสมตามวัย เนื่องจากระบบการย่อยและการดูดซึมยังไม่สมบูรณ์
5. เนื้อสัมผัสของอาหาร จัดให้เหมาะกับการพัฒนาการของเด็กทารกเริ่มจากอาหารเหลว กึ่งเหลว กึ่งแข็ง อ่อนนิ่มและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
6. ไม่ปรุงอาหารรสจัด เช่น หวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด
7. เน้นความสะอาดของวัตถุดิบและภาชนะใส่อาหาร
การแพ้อาหารในทารก
ปัจจุบันอาหารอาหารทารกมีทั้งในรูปของนม (นมวัว) และอาหารเสริม การแพ้โปรตีนในนมวัว มักเกิดช่วงอายุ 1-4 เดือน อาการคือ คัดจมูก อาเจียน ปวดท้อง มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับทารก ดังนั้นอาหารแต่ละชนิดที่จะเริ่มให้ครั้งแรกต้องให้ทีละน้อย 1-2 ช้อนเล็กก่อน ดูการยอมรับว่าแพ้หรือไม่ เช่น ไข่ เริ่มไข่แดงก่อน ไข่ ขาวเริ่มเมื่ออายุ 7 เดือน ถ้าแพ้ไข่ขาว จะเกิดผื่นที่หน้าทั้ง 2 ข้างแก้ม ภายใน 1-2 สัปดาห์ เรียกว่า ขี้กลากน้ำนม ก็ควรเริ่มให้ไข่ขาวเมื่ออายุ 1 ปี แต่ไข่แดงให้ได้
เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน พบสารแพ้กลูเตน (เป็นโปรตีน ในอาหารที่ทำจากข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโอ๊ต) เด็กจะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง เพราะเยื่อบุลำไส้ถูกทำลาย ปัจจุบันที่ฉลากจะระบุว่ามีกลูเตนอยู่ด้วยหรือไม่
ถ้าเด็กแพ้นมผสม ถั่วลิสง ช็อกโกแลต หรืออาหารทะเลอาการคือ ผื่นคันที่แก้ม หลังหูและตามข้อพับ แต่ถ้าทารกไม่มีอาการแพ้อาหารสามารถค่อยเพิ่มอาหารใหม่ โดยควรให้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แล้วค่อยเปลี่ยนจะเป็นการป้องกันการแพ้อาหารลูกได้