การฝังแร่และใส่แร่รักษาโรคมะเร็ง

การฝังแร่และใส่แร่รักษาโรคมะเร็ง

ผศ.นพ.พิทยา ด่านกุลชัย

ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ในปัจจุบันการฝังแร่และใส่แร่ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง การฝังแร่และใส่แร่รักษาโรคมะเร็งเป็นอย่างไรนั้น จะได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

 

            การฝังแร่และใส่แร่ถือเป็นการรักษาโรคมะเร็งประเภทหนึ่งของรังสีรักษา ที่เรียกว่า การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้  โดยเป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีเข้าไปภายในก้อนมะเร็งโดยตรง หรือใกล้หรือแนบชิดกับก้อนมะเร็ง ทำให้การให้ปริมาณรังสีรักษาได้อย่างตรงจุดกับก้อนมะเร็ง และลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะข้างเคียง ทำให้ลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ ก้อนมะเร็งได้  โดยในปัจจุบันที่ใช้กันมากคือ การใส่แร่ในมะเร็งปากมดลูก โอกาสหายสูงขึ้น และอาการแทรกซ้อนก็จะน้อย ในปัจจุบันเม็ดแร่ที่ใช้กันมาก คือ แร่ Iridium 192 , Iodine 125 โดยมีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กมาก คล้ายเมล็ดข้าวสาร

 

การฝังแร่และใส่แร่มี 2 แบบ คือ แบบถาวร และแบบชั่วคราว

           - แบบถาวร เป็นการฝังแร่ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร และให้อัตราปริมาณรังสีขนาดต่ำ ซึ่งจะ    ค่อย ๆ ปล่อยรังสีออกมาอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เสื่อมสลายลงตามเวลาครึ่งชีวิต ตัวอย่างเช่น หากแร่มีค่าครึ่งชีวิตเท่ากับ 60 วัน หมายความว่า ทุก ๆ 60 วัน ความแรงของรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งจากจุดเริ่มต้น และลดลงเรื่อย ๆ จนสลายตัวไป และส่วนใหญ่ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เม็ดแร่ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ Iodine 125

           - แบบชั่วคราว เป็นการใส่แร่เข้าไปในอวัยวะที่เป็นมะเร็งโดยตรง หรือใกล้เคียงกับอวัยวะนั้น เพื่อให้ตัวแร่ปล่อยรังสีออกมาตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วถูกดึงออกมาผ่านอุปกรณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยจะให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูงต่อครั้ง ทำให้ไม่ต้องใส่ค้างไว้ในตัวผู้ป่วย มักใช้รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งศีรษะ และลำคอ และมะเร็งต่อมลูกหมาก เม็ดแร่ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ Iridium 192 และ Cobalt 60 โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาในแต่ละรายขึ้นอยู่กับระยะโรคของผู้ป่วย

 

ข้อดีของการฝังแร่และใส่แร่ คือ เป็นการรักษาได้ตรงจุด มีผลข้างเคียงน้อย ลดความเสียหายของเนื้อเยื่อข้างเคียง ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ระยะเวลารักษาสั้น ฟื้นตัวได้เร็ว

 

           ส่วนข้อจำกัดของการฝังแร่และใส่แร่ คือ ไม่สามารถใช้รักษาได้กับทุกอวัยวะ และทุกระยะโรค อยู่ที่แพทย์รังสีรักษาจะเป็นผู้พิจารณา

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยการฝังแร่มาจากต่างประเทศ เมื่อเดินทางกลับควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากการรักษาด้วยการฝังแร่ถาวร ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์แรก รังสีในผู้ป่วยยังคงมีอยู่ หากไม่ป้องกันตัวเอง เมื่อขึ้นเครื่องบินกลับบ้านทันทีหลังการรักษาจากต่างประเทศ คนรอบข้างที่นั่งมาด้วยอาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรอยู่ใกล้กับเด็กและสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ในขณะที่รังสียังสูงอยู่ เพราะจะทำให้เป็นอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้นควรใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้รังสีกระทบต่อผู้อื่น เช่น เสื้อกั๊กตะกั่ว หมวกที่มีส่วนผสมของตะกั่ว เป็นต้น หากเข้ามารับบริการทางการแพทย์ ควรแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกครั้ง