ภาวะไตวายเฉียบพลัน
ภาวะไตวายเฉียบพลัน
อ.พญ.ทัศน์พรรณ ศรีทองกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะเกิดอันตรายและผลแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้
ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตในช่วงเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เป็นผลให้เกิดการคั่งของของเสียและการควบคุมสมดุลกรดด่าง รวมทั้งปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ การใช้คำว่า เฉียบพลัน นอกจากบ่งถึงช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้
สาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลันมีได้หลายสาเหตุ ได้แก่
1. ความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อเสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสีย ผู้ป่วยไข้เลือดออกในภาวะช็อก หรือภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
2. การได้ยาหรือสารพิษต่อไต ยาที่พบบ่อย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดชนิด (NSAIDS) ยาชุด ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการได้รับสารทึบแสง ซึ่งยาเหล่านี้มีผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมอยู่เดิม อาจทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันซ้ำซ้อนได้
3. ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากโรคของโกลเมอรูลัส (glomerular disease) หรือจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดที่ไตเองหรือบริเวณอื่นของร่างกายก็ได้
4. การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
ส่วนอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะรู้สึกกระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน น้อยกว่าคนปกติ 3 เท่า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกาย หายใจลำบาก แขนขาบวม หอบ เหนื่อยจากการคั่งของสารน้ำในร่างกาย หากภาวะไตวายเฉียบพลันนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำอาจมีอาการแสดงของภาวะขาดน้ำ อาทิ เหนื่อยง่ายหรืออ่อนเพลีย
วิธีการรักษา โรคนี้มีการรักษาหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
วิธีที่ 1 แพทย์จะทำการรักษาโดยการหาสาเหตุและรีบทำการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติโดยเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ แก้ไขภาวะช็อกและการให้สารน้ำในรายที่มีการขาดสารน้ำ
วิธีที่ 2 แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน ได้แก่ การควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อไต รวมทั้งปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่ลดลง แก้ไขสมดุลกรดด่าง ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย เป็นต้น
วิธีที่ 3 การให้สารอาหาร พลังงานและปริมาณโปรตีนให้เหมาะสม
และวิธีสุดท้าย คือ การบำบัดทดแทนไต (dialysis) ตามข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะที่มีโปแตสเซียมในเลือดสูง ซึ่งหากหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ หากรับการรักษาล่าช้าก็จะทำให้กลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้
สำหรับผู้ป่วย การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสมุนไพรโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และควรตรวจสุขภาพประจำปี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการที่น่าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถทำให้หายกลับมาเป็นปกติได้