มารู้จักโรคถุงลมโป่งพองกันเถอะ

มารู้จักโรคถุงลมโป่งพองกันเถอะ

รศ.ดร.พญ.เบญจมาศ ช่วยชู

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือที่มักเรียกกันว่า “โรคถุงลมโป่งพอง” หลายคนมักคิดว่าเกิดจากการสูบบุหรี่แต่เพียงอย่างเดียวและมักจะมองข้ามปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ใกล้ตัวเรา จะพาไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับโรคนี้กันได้อย่างถูกต้อง

            สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองก็คือ การที่เราสูดสารที่เป็นพิษ อาจจะอยู่ในรูปของฝุ่นควันที่มีอานุภาพเล็ก ๆ หรือแก๊ส หรือสารเคมีเข้าไปยังปอด นอกจากนั้นสาเหตุที่เรารู้กันดี คือ การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ยิ่งสูบนานสูบมากก็จะมีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่เราสูบเอง หรือได้รับจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากคนในบ้านหรือที่ทำงานด้วย นอกจากบุหรี่ก็จะมีสารที่เป็นพิษอย่างอื่นที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น มลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานต่าง ๆ ทีนี้อาจจะสงสัยว่าบางคนเป็นบางคนไม่เป็นทั้ง ๆ ที่สูบบุหรี่เท่ากันหรือว่าทำงานที่เดียวกัน ก็เนื่องจากว่ามีปัจจัยในตัวคนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือเรื่องของพันธุกรรม ในบางคนอาจจะมีพันธุกรรมที่ผิดปกติทำให้การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของปอดทำได้น้อยกว่าคนปกติ หรืออาจจะมีความผิดปกติของปอดตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ทำให้ต้นทุนน้อยกว่าคนอื่นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ
            แบบที่ 1 อาการเหนื่อย อาการเหนื่อยก็อาจจะเป็นได้ตั้งแต่เวลาออกแรงทำงานหนักถึงจะมีอาการเหนื่อย จนถ้าเป็นมาก ๆ ขณะพักก็จะมีอาการเหนื่อยได้
            แบบที่ 2 ก็จะมีเรื่องของไอ ไอจะเป็นลักษณะไอเรื้อรังอาจจะมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเสมหะก็ปริมาณเพียงเล็กน้อยมักจะเป็นตอนเช้า
            ในการวินิจฉัยโรคนี้ เราจะสงสัยคนไข้เป็นถุงลมโป่งพองเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยง อย่างเช่นสูบบุหรี่หรือรับฝุ่นควันมาเป็นเวลานาน แล้วก็มีอาการเหนื่อยหรือว่าไอเรื้อรัง ซึ่งเราจะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจสมรรถภาพปอด หรือว่าเป่าปอดและพบว่ามีการตีบแคบอุดกั้นของหลอดลม เนื่องจากว่าการตรวจร่างกายอาจไม่พบความผิดปกติ เอกซเรย์ปอดก็อาจไม่พบความผิดปกติเช่นกัน

การรักษาโรคถุงลมโป่งพองก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การใช้ยารักษา กับการไม่ใช้ยา
            ส่วนที่ 1 การใช้ยารักษา ยาหลัก คือ ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการคนไข้ ซึ่งเราจะใช้ในรูปของยาพ่นสูดเราจะไม่ใช้ในรูปของยารับประทานเนื่องจากมีผลข้างเคียงมากกว่า และ
            ส่วนที่ 2 การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แล้วก็การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ถ้าผู้ป่วยมีออกซิเจนต่ำในร่างกายก็ต้องให้ออกซิเจนระยะยาว

            สำหรับวิธีป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองเกิดจากสารพิษที่เราสูดเข้าไป เพราะฉะนั้นเราต้องงดและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ อย่างเช่น เลิกบุหรี่ หรือถ้าเรามีอาชีพที่จะต้องสัมผัสหรือสูดฝุ่นควันก็พยายามหลีกเลี่ยง หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรจะต้องใส่หน้ากาก และหน้ากากนั้นต้องได้มาตรฐานตามวิชาชีพ

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด