มารู้จัก...ภาวะหัวใจล้มเหลว
มารู้จัก...ภาวะหัวใจล้มเหลว
อ.พญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หากไม่รู้ตัวอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้ารู้สาเหตุก็จะช่วยป้องกันตนเองได้ มาทำความเข้าใจภาวะหัวใจล้มเหลวกัน
ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคของตัวกล้ามเนื้อหัวใจเอง ความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน โรคลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ และโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด สาเหตุเหล่านี้ถ้ามีความรุนแรงมากเพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจโต และภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เมื่อมีอาการเพิ่มมากขึ้น จะมีอาการเหนื่อยเมื่ออยู่เฉย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนราบจะมีอาการหายใจไม่ออก หลายรายมีอาการบวมกดบุ๋มที่บริเวณหลังเท้าและหน้าขา มีอาการท้องโต รับประทานอาหารแล้วอิ่มง่ายเนื่องจากมีภาวะคั่งของน้ำและเลือดในตับ ทำให้เกิดภาวะตับโตและน้ำในช่องท้อง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ
สำหรับการวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการสืบค้นทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอคโค่คาดิโอแกรม หรือการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้เพื่อหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อเลือกการักษาที่เหมาะสม
ด้านการรักษา โดยทั่วไปมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
1. การรักษาจำเพาะของแต่ละสาเหตุ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นต้น
2. การรักษาด้วยยา รวมถึงยาขับปัสสาวะ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะทำการฝังเครื่องกระตุกหัวใจ หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร และในผู้ป่วยที่มีอาการมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจ หรือการผ่าตัดใส่เครื่องพยุงหัวใจ
นอกจากการรับประทานยา และมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากจะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ ผู้ป่วยควรงดอาหารที่มีรสเค็ม หรือมีส่วนประกอบของโซเดียม และควรทำการสำรวจภาวะน้ำและเกลือคั่งเป็นประจำทุกวัน โดยหากมีอาการบวมกดบุ๋ม หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งงดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเริ่มทีละน้อย เช่น การเดินบนทางราบ และหากมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ควรงดออกกำลังกาย