เรื่อง “โรคมะเร็งปากมดลูก : การป้องกันและรักษา”

เรื่อง “โรคมะเร็งปากมดลูก : การป้องกันและรักษา”

 

อ.นพ.สมภพ  กุลจรัสนนท์

ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคร้ายใกล้ตัวของผู้หญิง และกว่าจะรู้ตัวก็เข้าสู่ระยะอันตรายแล้ว เราจึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

 

ในปัจจุบันพบว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ไวรัส HPV (Human Papiloma Virus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 เมื่อมีเพศสัมพันธ์เชื้อไวรัส HPV จะเข้าไปสู่ปากมดลูกผ่านรอยถลอกของเยื่อบุผิวภายในช่องคลอด หลังจากนั้นเชื้อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ที่เรียกว่า ระยะก่อนมะเร็ง และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพในการก่อมะเร็งของไวรัสแต่ละชนิดรวมทั้งภูมิต้านทานของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

 

            โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หลายวิธี เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอแบ่งการป้องกันออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับปฐมภูมิ และระดับทุติยภูมิ

 

ระดับแรก ระดับปฐมภูมิ คือ การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย การป้องกันระดับนี้มีหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนเพียงคนเดียว การป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนั้น ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นการฉีดเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อไวรัส HPV ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยวัคซีนชนิดนี้ ต้องทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกเป็นเวลา 1 - 2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้  70 - 75 % ดังนั้นขอแนะนำว่าผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงอายุดังกล่าว ควรนำบุตรหลานมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

 

ส่วนระดับที่สอง ได้แก่ ระดับทุติยภูมิ เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกและนำไปสู่การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง  ซึ่งวิธีการตรวจคัดกรองมีหลายวิธี ได้แก่ วิธีตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก หรือที่เรียกว่า “แปบสเมียร์” เป็นการตรวจที่ใช้ตรวจมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีความแม่นยำ นอกจากนั้น มีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV โดยอาศัยหลักการที่ว่า ถ้าไม่มีเชื้อไวรัสก็จะไม่กลายเป็นมะเร็ง

 

หากเมื่อรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งปากมดลูก คำถามแรกก็เกิดขึ้น คือ จะมีวิธีรักษา และดูแลตัวเองอย่างไร จึงขออธิบาย ดังนี้

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะทำการแบ่งระยะของโรค ออกเป็นระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 จากการตรวจร่างกาย การตรวจภายใน การตรวจทางทวารหนัก ส่องกล้องทางกระเพาะปัสสาวะ ส่องกล้องทางทวารหนัก รวมทั้งเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม เมื่อแบ่งระยะของโรคได้แล้ว แพทย์จะทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

โรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด และการใช้รังสีรักษา วิธีแรก คือ การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูกรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานทั้งสองข้าง ส่วนวิธีที่สอง คือ การใช้รังสีรักษา ซึ่งประกอบด้วยการฉายแสง การฝังแร่ และใช้เคมีบำบัด วิธีนี้ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่ได้ผลใกล้เคียงกับการรักษาโดยการผ่าตัด

 

ระยะที่ 2, 3 และ 4 มีการรักษามาตรฐาน คือ การใช้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความแข็งแรง อายุ และโรคประจำตัวผู้ป่วยตามความเหมาะสม

 

ในการรักษาจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับวิธีต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา อย่างเช่น ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด จะมีการตกเลือด ติดเชื้อ มีการบาดเจ็บจากบริเวณอวัยวะรอบข้าง รวมทั้งไม่สามารถมีบุตรได้อีกและหมดประจำเดือนจนเข้าสู่วัยทอง สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้รังสีรักษา ส่วนใหญ่มักจะเป็นบริเวณผิวหนังที่โดนฉายแสง รวมทั้งอวัยวะรอบข้างที่โดนรังสีด้วย ส่วนผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ก็จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มือเท้าชา และผมร่วง  รวมทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดจะต่ำ มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรของเคมีบำบัดที่ใช้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มีความแตกต่างกันแต่ละวิธีของการรักษา ยิ่งได้รับการรักษาหลายวิธีก็จะมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมากได้เช่นกัน

 

โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยควรทำร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้เข้มแข็งไม่เครียด กำลังใจจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อผู้ป่วยกำลังใจดีแล้วผลการรักษาก็มักจะดีตามไปด้วย ที่สำคัญ คือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งการมาตรวจติดตามอาการและการรักษาอย่างต่อเนื่อง

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด