ลดความอ้วนอย่างไรไม่เกิดอันตราย

รศ.พญ.นันทกร  ทองแตง
ผศ.นพ.พรพจน์ เปรมโยธิน
ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคอ้วน เป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาหารในปัจจุบัน เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว

            จากการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารจุกจิก หลายมื้อ หรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ (ให้พลังงาน) สูง  ร่วมกับมีกิจกรรมทางกายลดลง หันไปใช้เครื่องผ่อนแรง   เช่น  บันไดเลื่อน  ลิฟต์  หรือยานพาหนะแทน   รวมไปถึงขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  

            ปัจจุบันโรคอ้วนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของผู้ใหญ่เท่านั้น   เด็กก็พบปัญหาเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน   นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง นิ่วในถุงน้ำดี  โรคหัวใจและหลอดเลือด  

การวินิจฉัยโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุง

            โรคอ้วนสามารถวินิจฉัยได้ จากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) โดยใช้ น้ำหนัก หารด้วยส่วนสูง หน่วยเป็น เมตร ยกกำลังสอง    [BMI = น้ำหนัก (กก) / ส่วนสูง (ม)2 ]  หากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม2 จัดว่ามีน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และ หากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ม2 จัดว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง

           สำหรับคนไทย เส้นรอบเอวเพศชาย ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และ เพศหญิง ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)

วิธีลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย ได้ผล

            การลดน้ำหนัก ประกอบด้วย การคุมอาหารและออกกำลังกาย หรืออาจพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วย สําหรับการผ่าตัดลดน้ำหนัก แพทย์จะใช้เฉพาะผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 40 กก./ม2 หรือ เกิน 35 กก./ม2  ที่มีภาวะโรคเรื้อรังจากความอ้วน ( obesity related comorbidities) ร่วมด้วย

            ว่าไปแล้วหากลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานลงวันละประมาณ 500 กิโลแคลอรี่  จะสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม หรือ 1-2  กิโลกรัมต่อเดือน 

            สูตรอาหารลดน้ำหนักมีหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพลดน้ำหนักในระยะสั้นแตกต่างกัน  แต่ในระยะยาว ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักคล้ายคลึงกัน  หากสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

            อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ หากจะลดน้ำหนักโดยใช้สูตรลดแป้ง หรือโลว์คาร์บ (low carbohydrate) และสูตรอาหารคีโตเจนิค (ketogenic diet) เนื่องจากอาจมีความจําเป็นต้องปรับยาเบาหวาน เพื่อลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1  

            ให้เราสังเกตดู  เมื่อลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหารไปสักระยะหนึ่ง น้ำหนักจะลดช้าลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่าภาวะ “โยโย่”   

           การออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ทำได้ง่ายๆ โดยเดินเพิ่มขึ้น อาจเดินพื้นราบ  เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน  ถีบจักรยานระยะทางสั้น ๆ   นอกจากออกกำลังกายแล้ว ยังลดมลภาวะจากน้ำมันรถได้อีกด้วย  

           สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาในสื่อต่างๆ และอ้างถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนักนั้น ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ยา แต่เป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ซึ่งจัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กล่าวคือ องค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้น ร่างกายสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารโดยทั่วไป แม้ว่ารูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใกล้เคียงกับยา  แต่ไม่ใช่ยา  ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายได้ และไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาความเจ็บป่วยหรือโรคใด ๆ ได้

          ดังนั้น การใช้ยาลดน้ำหนัก ควรใช้ภายใต้คําแนะนําของแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น  เนื่องจากยาลดน้ำหนักบางชนิดมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและอารมณ์  เช่น

           ยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) เป็นอนุพันธ์ของสารแอมเฟตามีน  ออกฤทธิ์ต่อสมองทําให้ลดความอยากอาหาร เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีผลข้างเคียงทําให้ปากคอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และได้รับการรับรองให้ใช้ในระยะสั้น  คือ ไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น  

           ส่วนยาลดน้ำหนักชนิดฉีด เช่น ยาลิรากลูไทด์ (liraglutide) อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

           ยาไซบูทรามีน (sibutramine) ออกฤทธ์ต่อระบบประสาททําให้เบื่ออาหาร  ปัจจุบันถูกถอนทะเบียนยา และไม่อนุญาติให้ใช้แล้วในประเทศไทย เนื่องจากอาจทําให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อผู้เป็นโรคหัวใจ ปัจจุบันสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังคงตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนัก ซึ่งมีรายงานการเกิดอันตรายรุนแรงต่อผู้บริโภค ถึงขั้นเสียชีวิต

          โดยสรุปหลักสำคัญของการลดน้ำหนัก ประกอบด้วย การควบคุมอาหาร ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การอดอาหาร แต่เป็นการควบคุมให้ปริมาณแคลอรี่ที่รับเข้าไปสมดุลกับที่พลังงานถูกนำไปใช้  ฝึกการรับประทานให้เป็นเวลา วันละ 3 มื้อ และไม่กินพร่ำเพรื่อระหว่างมื้อ ลดของหวาน ขนมหวาน และน้ำหวานต่าง ๆ  การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากหากใช้ผิดวิธี อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการออกกำลังกาย และเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยพยายามลุกขึ้นเดิน  แทนที่จะนั่งตลอด 

                                               เราเชื่อว่าคุณทำได้ ลงมือเสียแต่วันนี้เถอะค่ะ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด