การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Office Hysteroscopy)
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Office Hysteroscopy)
รศ.พญ.สุชาดา อินทวิวัฒน์
หน่วยต่อมไร้ท่อทางนรีเวชและคลินิกวัยทอง
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การสืบค้นเพื่อวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี เช่น อัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติ อัลตราซาวด์ร่วมกับการฉีดน้ำเกลือในโพรงมดลูก (Saline infusion sonohysterography-SIS) การขูดมดลูก และ การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) พบว่าการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก ถือว่าเครื่องมือสำคัญที่สามารถบอกพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้อย่างชัดเจน แต่มีข้อจำกัดในเรื่อง การตรวจที่ใช้เครื่องมือราคาแพง ภายใต้การดมยาสลบ มีภาวะแทรกซ้อนได้สูง และต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำหัตถการ รวมถึงราคาค่อนข้างสูง สำหรับการขูดมดลูกนั้นอาจจะมีโอกาสพลาดสูงสำหรับการวินิจฉัยบางโรค เช่น ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก และ เนื้องอกในโพรงมดลูก ดังนั้นการสืบค้นที่นิยมใช้ ได้แก่ อัลตราซาวด์ร่วมกับการฉีดน้ำเกลือในโพรงมดลูก (Saline infusion sonohysterography-SIS) ดังรูปที่1
ในปัจจุบันนี้การตรวจรักษาผู้ป่วยทางนรีเวชได้มีการพัฒนามากขึ้นทั้งด้านความรู้ใหม่ และเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในรูปแบบการตรวจและรักษาที่คลินิก โดยวิธีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Office Hysteroscopy)
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เป็นวิธีการตรวจโดยใช้กล้องเล็ก ๆ สอดเข้าทางปากมดลูก ซึ่งสามารถเห็นความผิดปกติภายในโพรงมดลูก ในกรณีการวินิจฉัยไม่สามารถทำได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกายตามปกติ รวมถึงการตรวจทางอัลตราซาวด์ และการฉีดสีเอกซ์เรย์ เช่น มีเลือดระดูผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดระดูเพื่อการวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยเนื้องอกในโพรงมดลูกชนิดต่างๆ พังผืด การอักเสบติดเชื้อ ความผิดปกติของรูปร่างของมดลูก
การใช้กล้องส่องโพรงมดลูกเพื่อช่วยตรวจวินิจฉัย และผ่าตัดรักษาโรคทางนรีเวช โดยเฉพาะที่มีพยาธิสภาพผิดปกติภายในโพรงมดลูกได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากกล้องดังกล่าวสามารถช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว เป็นการตรวจที่มองเห็นพยาธิสภาพภายในโพรงมดลูกผ่านกล้องโดยตรง ให้การวินิจฉัยโรคได้ทันทีที่ตรวจพบ นอกจากนี้ยังสามารถทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ตรงกับตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ
วิธีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
แพทย์จะนำกล้องสำหรับตรวจโพรงมดลูกซึ่งมีขนาดเล็กมากประมาณ 3 มิลลิเมตร สอดผ่านปากมดลูก เข้าไปยังโพรงมดลูก เพื่อทำการตรวจสภาพภายในโพรงมดลูก หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก แพทย์จะนำสารคัดหลั่งจากภายในโพรงมดลูกออกมาทำการตรวจเพาะเชื้อด้วย การตรวจจะใช้เวลา 5-10 นาที ในบางรายที่พบความผิดปกติอาจพิจารณาตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
หากตรวจส่องกล้องโพรงมดลูกในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่อาจส่งผลให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้นจึงต้องมั่นใจว่าไม่ได้ทำการตรวจในขณะที่ตั้งครรภ์ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือหลังจากรอบเดือนหมดสนิทไปแล้ว 5 7 วัน เนื่องจากเป็นการตรวจที่คลินิก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนทำการตรวจ เนื่องจากในระหว่างที่ทำการตรวจจะไม่มีอาการปวดรุนแรง
ผู้ป่วยเป้าหมาย
สตรีที่มีปัญหาทางด้านนรีเวช เช่น เลือดออกผิดปกติในโพรงมดลูกที่ไม่ทราบสาเหตุ สงสัยมีเนื้องอก หรือ ติ่งในโพรงมดลูก สตรีที่มีภาวะมีบุตรยาก รวมถึง โรคความผิดปกติในโพรงมดลูก เช่นมีผนังมดลูกรูปร่างผิดปกติจากการฉีดสี X-ray หรือจากการทำอัลตราซาวด์
ข้อบ่งชี้ในการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก
1. วินิจฉัยเลือดออกผิดปกติในโพรงมดลูกที่ไม่ทราบสาเหตุ
2. วินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก
3. สงสัยมีเนื้องอก หรือ ติ่งในโพรงมดลูก
4. สงสัยความผิดปกติในโพรงมดลูก เช่นมีผนังมดลูกรูปร่างผิดปกติจากการฉีดสี X-ray หรือจากการทำอัลตราซาวด์
ผลข้างเคียงพบได้น้อยมาก ได้แก่ เลือดออกผิดปกติ การอักเสบติดเชื้อ รวมถึงอาการปวดท้องน้อย แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์หลังทำหัตถการเป็นเวลา 3-5 วัน
เพื่อให้การบริการทางการแพทย์แก่สตรีดังกล่าว ได้อย่างถูกต้อง และทันสมัยตามหลักวิชาการ ทางหน่วยต่อมไร้ท่อทางนรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจโดยวิธีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Office Hysteroscopy) จึงได้มีการเปิดให้บริการเมื่อเดือน มีนาคม 2559 ที่คลินิกต่อมไร้ท่อทางนรีเวช ในวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
เอกสารอ้างอิง
1. Jansen FW, de Kroon CD, van Dongen H, Grooters C, Louwe L, Trimbos-Kemper T. Diagnostic hysteroscopy and saline infusion sonography: prediction of intrauterine polyps and myomas. J Minim Invasive Gynecol 2006;13(4):320-4.
2. De Kroon CD, De Bock GH, Dieben SW, Jansen FW. Saline contrast hysterosonography in abnormal uterine bleeding: a systematic review and meta-analysis. BJOG 2003;110(10):938-47.
3. Yildizhan B, Yildizhan R, Ozkesici B, Suer N. Transvaginal ultrasonography and saline infusion sonohysterography for the detection of intra-uterine lesions in pre- and post-menopausal women with abnormal uterine bleeding. J Int Med Res 2008;36(6):1205-13.