ร้ายลึก! ไวรัสตับอักเสบ

ร้ายลึก! ไวรัสตับอักเสบ

 

รศ.นพ.ทวีศักดิ์  แทนวันดี

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

          เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จะไม่มีอาการผิดปกติ จนกว่าจะเกิด  ตับแข็งระยะท้าย หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็งและมะเร็งตับ  ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งจัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากในประเทศไทย  ในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5 ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร หรือประมาณ 1 ล้านคน นั่นคือมีคนไทยราว 4 ล้านคน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับและตับแข็ง

            หลายคนอาจไม่รู้ว่า ตับ มีประโยชน์อย่างไร กล่าวอย่างง่ายๆ คือ  ตับมีหน้าที่สร้างโปรตีนต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย สร้างน้ำดีและเกลือน้ำดีช่วยย่อยสลายไขมัน  เก็บสำรองอาหารผลิตเป็นพลังงานแก่ร่างกาย  สะสมและสร้างวิตามิน  กำจัดยาและสารพิษ และยังทำหน้าที่ภูมิต้านทานให้ร่างกายด้วย เมื่อทราบดังนี้แล้ว เราควรจะดูแลตับของเราให้ดี

            คุณหมอทวีศักดิ์แนะนำการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีดังนี้

            หลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยง จากการเจาะ สักผิวหนัง  ฉีดยาเสพติด หรือเชื้อเข้าทางบาดแผล    การมีคู่นอนหลายคน โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ควรสวมถุงมือ แว่นตาหรือชุดคลุม เมื่อต้องสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยทุกครั้ง    

อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบทั้ง 2 ชนิด ไม่ติดต่อหลักทางน้ำลายหรือการสัมผัสภายนอก ดังนั้นการกินอาหารร่วมกัน หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เข้าห้องน้ำห้องดียวกัน จึงไม่ใช่ทางติดต่อ

            ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรแจ้งแพทย์ขณะฝากครรภ์เพื่อป้องกันการติดต่อไปสู่ทารกขณะคลอด โดยการฉีดวัคซีนร่วมกับให้อิมมูโนกลอบบูลิน (Hepatitis B immunoglobulin, HBIG) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอดและประเมินความจำเป็นที่ต้องกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบี เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก      

สำหรับคนทั่วไป การฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ช่วยสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต  ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซีในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

          สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่โดนเข็มเจาะเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำ หากไม่มีภูมิต้านทานเลย ควรได้รับการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ร่วมกับอิมมูโนกลอบบูลินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากมีภูมิต้านทานแต่ระดับน้อยกว่า 10 ยูนิต ควรได้รับการฉีดอิมมูโนกลอบบูลินร่วมกับวัคซีน 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน นอกจากนี้ผู้ที่โดนเข็มตำ ควรได้รับการตรวจเลือด เพื่อตรวจดูไวรัสตับอักเสบซีและเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด