ระวัง! ไวรัสเมอร์ส
ระวัง! ไวรัสเมอร์ส
อ.นพ.สุสัณห์ อาศนะเสน
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ดูเหมือนโรคไวรัสเมอร์สที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ จะใกล้ตัวคนไทยเข้าไปทุกที ยิ่งกว่านั้นยังเป็นเชื้อใหม่ที่ไม่มียารักษา เราจึงควรเฝ้าระวังและดูแลตนเองให้รอดพ้นจากความเสี่ยงต่างๆ
โรคเมอร์ส เป็น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาการของโรคนี้ มีความหลากหลาย ตั้งแต่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว จนกระทั่งหอบเหนื่อย และปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จากอาการที่ไม่จำเพาะ การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจทางไวรัสวิทยา
โรคนี้สามารถติดต่อได้ทั้งจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หรือผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอ จาม หายใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะในระยะ 1 เมตร รวมถึงจากการสัมผัสสัตว์ที่เป็นแหล่งโรค เช่น อูฐ รวมทั้งการดื่มนมอูฐที่อาจปนเปื้อนเชื้อนี้
การก่อโรค เริ่มตั้งแต่สัมผัสโรคจนเริ่มมีอาการ ใช้ระยะเวลา 2 14 วัน โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 5-7 วัน ดังนั้นหากท่านเดินทางไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาด เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง หรือเกาหลีใต้ ภายใน 14 วัน แล้วมีอาการไม่สบาย ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้
การรักษาในปัจจุบัน เป็นการประคับประคองอาการ เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดี อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 30 - 40 ส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตจะมีอายุมากกว่า 40 ปี และมีโรคเรื้อรังต่าง ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคปอด
ดังนั้นหากท่านสงสัยว่าเป็นโรคเมอร์ส ต้องหยุดทำงาน ใส่หน้ากากอนามัย หากท่านไอหรือจามต้อง
ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษชำระ หากไม่ทันอาจใช้แขนเสื้อของตนเองปิดแทน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นและสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร ที่สำคัญโทรศัพท์ติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านก่อนไปว่า ท่านอาจเป็นโรคเมอร์ส เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมความพร้อมในการดูแลรักษา
สำหรับการป้องกันโรคเมอร์สนั้น นอกจากหลีกเลี่ยงการเดินทางไป หรือผ่าน ประเทศที่มีการระบาดแล้ว ท่านควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ ได้แก่
- ทำความสะอาดมือ บ่อย ๆ เป็นประจำ
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย ที่มีอาการไม่สบายคล้ายหวัด
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นควร
ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
โรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากเราติดตามข่าวสาร เตรียมรับมือและป้องกัน โดยทำร่างกายให้แข็งแรง อยู่แบบถูกสุขอนามัย ก็ป้องกันได้นะครับ