ภัยร้าย! ไวรัสตับอักเสบ ซี

ภัยร้าย! ไวรัสตับอักเสบ ซี

รศ.นพ.พูลชัย  จรัสเจริญวิทยา 
ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


จากรายงานสถานการณ์โรคที่ต้องเฝ้าระวัง มักพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ  ภาคกลาง และภาคใต้

ไวรัสตับอักเสบ คือ ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคตับ ทำให้มีการอักเสบภายในเนื้อตับ ซึ่งมีหลายชนิดได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และ อี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในประเทศไทย เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง จนผู้ป่วยบางรายมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็ง ที่ร้ายกว่านั้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ

สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี  เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้หลายทาง  ได้แก่  การฉีดยาสารเสพติดเข้าร่างกายโดยใช้เข็มร่วมกัน การสักผิวหนัง การรับเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือดของผู้ป่วยสู่บุคคลอื่นผ่านผิวหนังหรือเยื่อเมือกบริเวณที่มีบาดแผล แต่ในปัจจุบัน ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลศิริราช และสภากาชาดไทยได้มีการตรวจกรองเลือดทุกถุง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้โกนหนวดและขน  กรรไกรตัดเล็บ และเครื่องมือทำความสะอาดช่องปากและฟัน เป็นต้น

ที่สำคัญ  ไวรัสตับอักเสบ ซี  ไม่ติดต่อจากการสัมผัส  การรับประทานอาหาร และดื่มน้ำ ร่วมกัน

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่  มักไม่มีอาการทางคลินิก  กว่าจะรู้ตัวก็อาจลุกลาม และนำไปสู่โรคร้ายได้ แต่หากมีอาการอ่อนเพลียก็ให้พักผ่อน และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และสามารถออกกำลังกายได้

ปัจจุบันมียารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผลตอบสนองขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัส

อย่างไรก็ดี การป้องกันการติดเชื้อ  ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะยังมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ ไม่แนะนำให้ใช้มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟันร่วมกัน ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสัก การเจาะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงควรใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อไวรัสตับ และเพื่อให้ห่างไกลจากไวรัสตับอักเสบ ซี ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดค้นหาการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้   

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด