เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน...ต้องกินยาแก้อักเสบไหม

เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน...ต้องกินยาแก้อักเสบไหม

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            “เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน...ต้องกิน หรือจ่ายยาแก้อักเสบ”เป็นความเชื่อของผู้ป่วย เภสัชกร หรือแพทย์บางท่าน ที่ยากแก่การแก้ไข เพราะมักเชื่อว่า
            1. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ต้องกินยาแก้อักเสบ หรือยาต้านจุลชีพ (
antibiotic) จึงจะหาย
            2. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ถึงแม้จะเกิดจากเชื้อไวรัส ต้องกินยาแก้อักเสบไว้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เพราะถ้าปล่อยให้แบคทีเรียซ้ำเติม อาการจะแย่ลงหรือหนักมากขึ้น
  กันไว้ก่อนดีกว่า
            3. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย จะเกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน  ถ้าไม่กินยาแก้อักเสบจะไม่หาย เพราะหายไม่หาย อยู่ที่ยาแก้อักเสบเป็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่อย่างอื่น
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
(upper respiratory tract infection) ได้แก่
                        - โรคจมูกอักเสบ (acute rhinitis)  หรือที่มักเรียกว่า “หวัด” ทำให้มีไข้  อ่อนเพลีย  ปวดหรือมึนศีรษะ  คัดจมูก น้ำมูกไหล (มีสีใส, ขุ่น หรือเหลืองเขียว)
                        - โรคไซนัสอักเสบ  (
acute rhinosinusitis) ทำให้มีไข้  คัดจมูก  น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวข้นตลอด ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อ่อนเพลีย  ไอ  ปวดศีรษะ ปวดจมูก, โหนกแก้ม, รอบตา หรือหน้าผาก
                        - โรคหูชั้นกลางอักเสบ (
acute otitis media) ทำให้ผู้ป่วยมีไข้  ปวดหู  หูอื้อ  อาจมีหนองไหลออกมาจากหู  มีเสียงดังในหู  อาจมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ในผู้ป่วยบางราย
                        - โรคคอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ (
acute pharyngitis or tonsillitis) ทำให้มีไข้  เจ็บคอ  กลืนอาหาร หรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บ หรือติดขัด
                        - โรคสายเสียง  หรือกล่องเสียงอักเสบ (
acute laryngitis) ทำให้ไอ  ระคายคอ  มีเสียงแหบแห้ง
                        - โรคหลอดลมอักเสบ (
acute bronchitis)  ทำให้ไอ  มีเสมหะ  เจ็บหน้าอก
                        - โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (
pneumonia)  ทำให้มีไข้  ไอ  หอบ

ดังนั้นส่วนใหญ่ เมื่อผู้ป่วย มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  ผู้ป่วยมักจะซื้อยาแก้อักเสบกินเอง หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาเป็นผู้จ่ายยาให้ หรือแม้แต่แพทย์เอง ก็จ่ายยาแก้อักเสบให้ผู้ป่วยกิน  เนื่องจากเชื่อเช่นเดียวกับผู้ป่วย หรือทราบ แต่ไม่มีเวลาอธิบายให้ผู้ป่วยฟัง หรืออธิบายแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ไม่เชื่ออยู่ดี และรบเร้าให้แพทย์จ่ายยาแก้อักเสบให้ จึงจ่ายให้เพื่อตัดความรำคาญ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว  สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส (ได้แก่ rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus) จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องกินยาแก้อักเสบ เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นมาไม่เกิน 7-10 วัน  เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง  ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเหมาะสม  แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมานานเกิน 7-10 วัน (มักจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย) หรือมีหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ การกินยาแก้อักเสบในกรณีดังกล่าวจึงสมเหตุสมผล

นอกจากนั้นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่มักเข้าใจกันผิด คือ ดูสีของน้ำมูกหรือเสมหะ ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแน่นอน ต้องกินยาแก้อักเสบจึงจะหาย  ความเป็นจริงแล้ว การที่น้ำมูกหรือเสมหะค้างอยู่ในจมูก หรือหลอดลมนานๆ ก็จะทำให้น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวได้ โดยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นประวัติที่ได้จากผู้ป่วยว่า น้ำมูกหรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวไม่ได้บ่งบอกว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย และต้องกินยาแก้อักเสบเสมอไป

บางกรณี ถึงแม้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเป็นมาไม่เกิน 7-10 วัน แต่อาจมีความจำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบ  เนื่องจากมักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
            1. ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (
acute bacterial rhinosinusitis) (รูปที่ 1) นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว การตรวจจมูกจะพบเยื่อบุจมูกบวม แดง มีน้ำมูกสีเหลือง หรือเขียวภายในโพรงจมูก หรือมีเสมหะสีเหลือง หรือเขียวไหลลงคอ  อาจมีการกดเจ็บที่บริเวณหน่าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม
            2. ผู้ป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
(acute bacterial tonsillitis) (รูปที่ 2) นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว  การตรวจคอจะพบต่อมทอนซิลบวม แดง มีตุ่มหนองบนต่อมทอนซิล อาจพบจุดเลือดออกบนเพดานอ่อน หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และกดเจ็บ
            3. ผู้ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย (
acute bacterial otitis media) (รูปที่ 3) ผู้ป่วยมักมีประวัติไข้หวัด หรือจมูกอักเสบนำมาก่อน ต่อมามีอาการดังกล่าวข้างต้น  ตรวจหูพบเยื่อแก้วหูบวม, แดง, ทึบ อาจเห็นระดับหนองภายในหูชั้นกลางหลังเยื่อแก้วหู

ซึ่งกรณีดังกล่าว ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค  ดังนั้นความเชื่อแรกจึงไม่ถูกต้อง เพราะผู้ป่วยกินยาแก้อักเสบ ซึ่งฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่การเจ็บป่วยของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส  การกินยาแก้อักเสบจึงไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายยังกระตุ้นให้แบคทีเรียที่อยู่ประจำในจมูก และลำคอมีการดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับความเชื่อที่ 2 นั้น จากการศึกษาพบว่า การกินยาแก้อักเสบไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม แถมยังมีผลเสียทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนความเชื่อที่ 3 การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จะหายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ว่าสามารถหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลงและนำมาสู่การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หรือไม่ (เช่นเครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ  ตากฝน  สัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สัมผัสกับคนรอบข้างที่ป่วย) และปฏิบัติตัวได้เหมาะสมหรือถูกต้องหรือไม่ เพราะการที่ผู้ป่วยจะหายหรือไม่หายนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยาที่แพทย์จ่ายให้ หรือยาแก้อักเสบ

ดังนั้น ท่านมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจแล้วนะครับ ว่าเมื่อท่านมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ท่านควรจะกินยาแก้อักเสบหรือไม่


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด