“ปวดตับ” อย่ามองข้าม

 “ปวดตับ” อย่ามองข้าม

รศ.นพ.พูลชัย จรัสเจริญวิทยา

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

“ปวดตับ” เป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ตับ ทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงงานผลิตพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งยังเป็นอวัยวะสำคัญในการเผาผลาญของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย โดยทำการขับออกมาทางน้ำดีลงสู่ลำไส้ปนไปกับอุจจาระ และเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยาหรือสารต่างๆ ที่ร่างกายรับประทานแล้วเหลือตกค้าง สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ ทำให้เกิดโรคตับต่างๆ ได้  เช่น โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีการอักเสบบวมของเนื้อตับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตับ จุกตึงใต้ชายโครงขวา ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดดีซ่านขึ้นได้

            นอกจากนี้ ปวดตับ ยังอาจเกิดจากเนื้อตับบางส่วนที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นก้อนเนื้องอกดันผิวตับให้โป่งนูน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดจุกแน่นในบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่  มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรังแฝงอยู่โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ มาก่อน หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ อ่อนเพลียและหมดแรงง่าย  บางรายมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาเจียนเป็นเลือดสด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร อันเป็นผลจากภาวะตับแข็งที่มักพบร่วมด้วยในผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งตับ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า  เมื่อไรควรไปพบแพทย์ เรามีสัญญาณอันตรายที่เตือนว่า ตับของคุณเริ่มมีปัญหาแล้วคือ
            1. อาการปวดจุก หรือแน่นชายโครงขวา ซึ่งเป็นที่อยู่ของตับ อาจเพราะมีการอักเสบของเนื้อตับ หรือเกิดจากก้อนเนื้องอกภายในเนื้อตับ
            2. ดีซ่าน คือ ภาวะที่มีการคั่งของเม็ดสีน้ำดี ซึ่งสร้างมาจากตับ สะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้ผิวหนังและเยื่อตาขาวเปลี่ยน  มีสีเหลือง ซึ่งน้ำดีที่มากเกินในร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกขับออกทางไต ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม เป็นสัญญาณบ่งว่า สมรรถภาพการทำงานของตับเริ่มถดถอย
            3. อ่อนเพลียเรื้อรัง หมดแรงง่าย อาจเกิดจากภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจเลือดยืนยันและหาสาเหตุต่อไป โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ การดื่มสุราจนทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง โรคอ้วนจนมีไขมันคั่งในเนื้อตับปริมาณมาก และการรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสารเหล่านี้ตกค้าง จนทำให้เกิดตับอักเสบ ผลิตพลังงาน และสารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ลดลง
            4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สมรรถภาพการทำงานของตับเริ่มเสื่อมลง ทำให้ร่างกายต้องดึงพลังงานสำรองจากที่ต่างๆ มาเผาพลาญ  น้ำหนักตัวจึงลดลง

ดังนั้นถ้าเราสังเกตตัวเองว่ามีสัญญาณเตือนความผิดปกติดังกล่าว อาจบ่งว่าสุขภาพตับเริ่มจะไม่แข็งแรง  มีโรคภัยซ้อนเร้นอยู่ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมว่า สมถรรภาพการทำงานของตับและสาเหตุของความผิดปกตินั้นเกิดจากอะไร

แต่สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ห่างไกลจากโรคที่ทำให้ “ปวดตับ” เราควรจะดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่สะอาดและมีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับออกกำลังกาย เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดพุง  ไม่รับประทานสารอาหาร ยา หรือสมุนไพรใดๆ เสริมโดยไม่จำเป็น

เท่านี้คุณก็จะไม่ “ปวดตับ”


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด