โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หูดข้าวสุก

โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หูดข้าวสุก

อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
นางสาวปารีดา เปิ่นสูงเนิน
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หูดข้าวสุกเป็นโรคที่ยังคงพบได้อยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากโรคสามารถติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนัง จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง หรือจากผิวหนังที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในบุคคลเดียวกัน โรคหูดข้าวสุกสามารถพบได้ทุกวัย ตั้งแต่ วัยทารก วัยเด็ก และผู้สูงอายุ  โดยมักแสดงอาการในผู้ที่มีภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ  เด็กเล็กจะสามารถติดหูดได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในวัยเจริญพันธุ์มักพบรอยโรคที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์จึงถือได้ว่าเพศสัมพันธ์เป็นการถ่ายทอดเชื้อโรคอีกวิธีหนึ่ง

สาเหตุของโรคหูดข้าวสุก
            เกิดจากไวรัสกลุ่ม
poxviridae การติดเชื้อมักเกิดเฉพาะผิวหนังชั้นนอก โดยของเหลวที่อยู่ในกลุ่มรอยโรคนี้ จะประกอบด้วย intracytoplasmic inclusion body เรียก molluscum bodyการถ่ายทอดเชื้อเกิดขึ้นโดยการสัมผัส นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว การสัมผัสโดยตรง เช่น การจับทารกหลังจากจับรอยโรค อาจทำให้ทารกเป็นหูดข้าวสุกได้ ในผู้ใหญ่มักเป็นเฉพาะที่บริเวณอวัยวะเพศ แต่ในเด็กอาจแสดงอาการได้ทั่วร่างกาย เช่น ข้อพับแขน-ขา และ ลำตัว เป็นต้น

อาการของโรคหูดข้าวสุก
         
การติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณผิวหนังชั้นนอก ไม่มีการเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือดหรือระบบประสาท  ดังนั้นจึงไม่มีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยนำมาก่อน มีอาการเฉพาะที่เป็นหลักโดยเริ่มจากมีจุดสีแดง ต่อมาเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง และอาจมีตุ่มคล้ายมีสารสีขาวอยู่ภายใน  บางครั้งจะมองเห็นเป็นจุดบุ๋มอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายเม็ดสิวแต่ไม่มีการอักเสบ เวลาบีบออกจะได้สารสีขาวข้นเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวสุก จึงเรียกว่า หูดข้าวสุก

จะทราบได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อหูดข้าวสุกแล้ว
         
หากท่านหรือคู่นอนมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ท่านควรเข้ามารับการตรวจที่หน่วย ฯ เมื่อท่านมาที่หน่วยฯ ท่านจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน นำตกขาวไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และการตรวจมะเร็งปากมดลูก (สำหรับผู้หญิง)
            ขั้นตอนในการวินิจฉัยเบื้องต้น ทำได้โดยการดูด้วยตาเปล่าเป็นหลักจึงสามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ส่วนผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกจะได้รับภายใน
2 สัปดาห์

ความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย
         
ขึ้นกับตำแหน่ง ลักษณะและจำนวนรอยโรค จำเป็นต้องแยกโรคนี้กับอาการรูขุมขนอักเสบ ติ่งเนื้อปกติ และแยกออกจากรอยโรคหูดหงอนไก่

การรักษาโรคหูดข้าวสุก
            หูดข้าวสุกมักหายได้เองใน 6-9 เดือน แต่ยังคงไม่แนะนำให้เพิกเฉยไม่รับการรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษา ท่านก็จะแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของท่าน และท่านจะได้รับเชื้อกลับเข้ามาอีก การรักษาทำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นและตนเองเพิ่อไม่ให้รอยโรคกระจายบริเวณกว้างขึ้น โดยแพทย์จะทำการแต้มยาที่ตุ่มหูด หากสามารถนำสารสีขาวที่อยู่ในตุ่มออกได้ก็จะทำก่อน

อาการต่างๆ จะหายไปเมื่อไหร่
            อาการต่างๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วหลังการรักษา 

เมื่อรักษาครบแล้วจะต้องกลับมารับการตรวจซ้ำอีกหรือไม่
            ท่านควรมารับการตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าหายสนิท

จะทราบได้หรือไม่ว่าได้รับเชื้อมานานเท่าใด
         
บอกได้ยาก เนื่องจากตัวโรคสามารถดีขึ้นเองได้บางส่วน  ทำให้มีการติดกลับไปมาระหว่างท่านและคู่นอน

ควรแจ้งผลการตรวจกับคู่นอนหรือไม่
            ควรอย่างยิ่ง เพื่อรักษาไปพร้อมๆ กัน หากท่านไม่สะดวกใจในการแจ้งผลต่อคู่นอนหรือตามคู่นอนมารับการตรวจ ท่านสามารถมารับคำปรึกษาจากหน่วยฯ หรือขอให้ทางหน่วยฯ เป็นผู้ประสานงานให้โดยการแจ้งผลนี้ จะไม่มีการระบุถึงตัวท่าน

ผลของโรคหูดข้าวสุกต่อการมีบุตร
         
ในขณะนี้ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว

โรคหูดข้าวสุกทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
            ในขณะนี้ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว

หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
            กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
(คลินิก 309)  ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช   โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ  E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด