เหา (Pediculosis)
เหา (Pediculosis)
ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ
ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เหาคืออะไร ?
เกิดจากการติดตัวเหา ซึ่งเป็นแมลง ชื่อ Pediculus humanus capitis ลักษณะรูปร่างตัวเรียวยาว ขนาด 3-4 มม. มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว จึงทำให้ติดโรคกันง่ายตัวแมลงจะวางไข่บนเส้นขนและหลั่งสารหุ้มปลายด้านหนึ่งของไข่ให้เกาะแน่นติดอยู่ ไข่เหามีขนาดยาว 0.5 มม. มองเห็นด้วยตาเปล่า
การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การสัมผัสโดยตรง สัมผัสเสื้อผ้า ผ้าปู ที่นอน หมวก ที่แต่งผมและหวี เป็นต้น พบบ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
เริ่มแรกเหาจะวางไข่ชิดหนังศีรษะ และเมื่อผมยาวขึ้นไข่เหาจะถูกเลื่อนสูงขึ้นไปด้วย ตัวเหาสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้นานถึง 4 วันในสภาวะอุณหภูมิห้องปกติ และไข่เหาสามารถอยู่ได้นานถึง 10 วัน นอกร่างกายเป็นโรคติดต่อง่าย มักพบว่าเป็นกันทั้งครอบครัวหรือระบาดอยู่ในชุมชน
อาการของเหาเป็นอย่างไร ?
ผู้ป่วยจะมีอาการคัน เกิดเป็นตุ่มคัน บริเวณที่ติดเชื้อเหา ซึ่งพบมากที่ศีรษะ แต่อาจพบได้ที่อื่น เช่น บริเวณเครา ในรายที่เป็นมานาน หรือมีอาการรุนแรง จะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่ผิวหนังและมีต่อมน้ำเหลืองข้างคอและท้ายทอยโต
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเหา ?
1. การซักประวัติ ผื่นที่มีอาการคันมาก และพบสมาชิกหรือผู้ใกล้ชิดที่มีอาการคล้าย ๆ กัน มีการระบาดของเหาในโรงเรียนหรือชุมชนจะช่วยในการวินิจฉัย
2. การตรวจร่างกาย พบตัวเหาหรือไข่เหาติดที่เส้นผม แยกจากรังแคหรือปลอกหุ้มเส้นผม โดยไข่เหาจะไม่สามารถเลื่อนไปตามเส้นผมได้
3. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยนำเส้นผมมาดู พบตัวเหาหรือไข่เหา
การรักษาเหา ?
การตัดผมหรือโกนผม เป็นวิธีที่ได้ผลดี เพราะเมื่อตัวเหาและไข่ไม่มีที่เกาะยึดแล้ว โรคก็จะหายไปได้ แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติลำบาก
ยาทา
ยาทาที่ใช้ได้ดีต่อตัวเหาและไข่ คือ permethrin lotion, pyrethrins หรือ malathion การทายาควรสวมถุงมือยาง ทายาให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออก หลังจากนั้นควรใช้หวีซี่ถี่ ๆ หวีตัวเหาและไข่เหาออก ควรทายาซ้ำอีกครั้งในอีก 7 วัน
ยารับประทาน
Ivermectin มีประสิทธิภาพรักษาเหาได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย
การป้องกันการแพร่กระจายของเหา
- ควรรักษาสมาชิกทุกคนในครอบครัว โรงเรียนหรือชุมชนพร้อม ๆ กัน
- ทำความสะอาดเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน หมอนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้ในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยการซักน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที สำหรับเครื่องนุ่งห่มที่ซักไม่ได้ เช่น หมอนและพรม ควรอบแห้ง 50OC 20 นาที หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดปากแน่น อย่างน้อย 14 วัน
- ล้างหวีในน้ำร้อน 65OC หรือแช่ใน 2% Lysol เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อฆ่าตัวเหา
- แยกของใช้ส่วนตัว หวี ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม และที่นอน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย
- ตัดเล็บสั้น ไม่แคะแกะเกาผื่นคัน