โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : โลน

โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : โลน

อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
นางสาวปารีดา เปิ่นสูงเนิน
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โลนเป็นแมลงเล็กๆ ที่ชอบอาศัยอยู่ที่บริเวณที่มีขนหยาบ เช่น ขนที่หัวเหน่าและขนรักแร้ เป็นต้น  โลนมีขนาดประมาณ 2 มม. ตัวสีเหลืองเทา รูปร่างคล้ายปู  คือมีขาคล้ายก้ามปู ทำหน้าที่ในการเกาะขน และมักจะวางไข่บนขน มองเห็นเป็นเม็ดๆ สีน้ำตาลกระจัดกระจาย โลนจะมีวงจรชีวิตคล้ายเหา แต่เป็นสิ่งมีชีวิตคนละกลุ่มกัน
            การติดเชื้อโลน เกิดขึ้นได้ง่ายจากการอยู่ใกล้ชิดกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เช่น การนอนอยู่บนเตียงเดียวกันเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์ทำให้โอกาสติดเชื้อสูงขึ้น

ติดโลนได้อย่างไร
            การติดเชื้อโลนนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรกหรือการดูแลความสะอาดที่ไม่ดีพอ แต่เกิดจากการที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค  โลนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบอยู่บริเวณขนหยาบ ดังนั้น สามารถพบได้ที่ขนที่หัวเหน่า  ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง ขนบริเวณท้อง ขนหน้าอก และเครา บางครั้งอาจพบที่ขนตาและขนคิ้ว  โลนชอบอยู่ติดกับร่างกายเพราะชอบอยู่ในที่ที่มีความอบอุ่นและดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร แต่สามารถมีชีวิตนอกร่างกายได้นานถึง 24 ชั่วโมง โลนไม่สามารถกระโดดได้ แต่มันจะค่อยๆ คืบคลานไปตามขนและพื้นผิว ดังนั้นจึงสามารถติดต่อกันได้โดยการนอนเตียงเดียวกัน หรือการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน

อาการของการติดเชื้อโลน
            บางคนไม่มีอาการใด เพียงแต่สังเกตเห็นไข่โลนติดตามขนของร่างกาย ในระหว่างที่ไม่มีอาการนี้ เป็นช่วงที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากที่สุด เมื่อติดโลนมา กว่าจะเริ่มมีอาการจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการในผู้ชายและผู้หญิงจะคล้ายกัน คือ คันบริเวณที่เป็น บ่อยครั้งที่พบว่ามีรอยเการุนแรง  จนเลือดออก หากมีโลนที่อวัยวะเพศ อาจมองเห็นอุจจาระของโลนเป็นจุดสีดำ ๆ ติดกางเกงใน และมองเห็นไข่โลนที่ขนตามร่างกาย โดยเห็นเป็นเม็ดสีน้ำตาล เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นเป็นจุดสีแดง ซึ่งเป็นรอยที่โลนดูดเลือดเป็นอาหาร หากลองสังเกตให้ดีจะเห็นโลนเดินอยู่บนเตียงนอน มันมักจะหยุดอยู่นิ่งเมื่อเปิดไฟและเริ่มเดินอีกครั้งเมื่อดับไฟ

ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อโลน
            เมื่อท่านสงสัยว่าติดเชื้อโลน ท่านควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ แพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกายบริเวณต่างๆ ตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เนื่องจากพบร่วมกันได้บ่อย โดยทั่วไป การวินิจฉัยจะสามารถทำโดยการดูด้วยตาเปล่าหรือใช้แว่นขยาย

การรักษาการติดเชื้อโลน
            การรักษาทำได้ง่าย โดยการใช้โลชั่นหรือแชมพูยา ทาบริเวณที่เป็น หากตรวจพบบริเวณขนตาหรือขนคิ้วจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยารักษาเป็นอันตรายต่อดวงตา ยาบางชนิดชะโลมทิ้งไว้เพียง 10-15 นาที แล้วล้างออก บางชนิดต้องทาทิ้งไว้นานกว่านั้น และทำซ้ำอีกครั้งที่ระยะ 3-7 วันต่อมา เนื่องจากยาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในไข่โลนได้ทั้งหมด ต้องรอให้ฟักตัวออกมาก่อน
            การโกนขนไม่ได้ช่วยทำให้การรักษาดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็ทำให้จำนวนไข่ที่จะฟักออกมามีจำนวนน้อยลง ท่านควรเผาขนที่โกนออกไปหรือจัดเก็บอย่างระมัดระวังเพราะโลนอาจคืบคลานไปติดผู้อื่นได้  ควรที่จะเปลี่ยนชุดเครื่องนอนทั้งหมดและผ้าเช็ดตัว โดยซักที่อุณหภูมิอย่างน้อย 50 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าโลนและไข่ทั้งหมด
            ควรจะทำการรักษาผู้ป่วยและคู่นอนไปพร้อมๆ กัน  ทั้งๆ ที่คู่นอนอาจจะไม่มีอาการเลย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ควรที่จะแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ หากท่านกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร

อาการต่างๆ จะหายไปเมื่อไหร่
         
ท่านควรจะอาการดีขึ้น ภายใน 2-3 วันหลังเริ่มการรักษา แต่อาการคันอาจหลงเหลืออยู่ได้อีก 3-4 วัน หลังรักษาครบ จากปฏิกิริยาของร่างกายที่ยังมีอยู่เล็กน้อย ไข่โลนที่เกาะติดอยู่ที่ขนหลังการรักษาจะยังคงอยู่ จะหลุดไปพร้อมขนซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์ ดังนั้นหากไม่สบายใจอาจใช้แปรงหวีออกหรือโกนทิ้ง

จะมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งได้เมื่อไหร่
            ควรงดโดยเด็ดขาด เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ระหว่างการรักษาไปพร้อมๆ กัน สามารถนอนร่วมเตียงเดียวกันได้ แต่แนะนำให้เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวทุกวัน

โลนหายเองได้หรือไม่
            โลนไม่สามารถหายเองได้ และถ้าได้รับการรักษาช้าจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นอย่างมาก

โลนมีผลต่อการมีบุตรหรือไม่
            ในขณะนี้ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว

หากเป็นโลนตอนตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
            แพทย์จะเลือกใช้ยาที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร สำหรับระหว่างการให้นมบุตร ท่านอาจแพร่เชื้อโลนไปที่บุตรได้ แต่โลนจะไม่แพร่จำนวนที่ทารก เพราะทารกไม่มีขนหยาบ อาการของทารกคืออาการคัน และจุดเลือดออกจาการดูดเลือดของโลน และอาจตรวจพบการวางไข่ที่บริเวณขนตาและขนคิ้ว (พบน้อย)

โลนทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
            ในขณะนี้ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว

หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
            กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
(คลินิก 309) ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ  E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด