โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : ถุงยางอนามัย
โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : ถุงยางอนามัย
อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถุงยางอนามัยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด ในปัจจุบัน มีถุงยางอนามัยให้เลือกใช้ ทั้งแบบสำหรับสตรีและแบบสำหรับบุรุษ ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ จะใช้คลุมองคชาตในขณะที่มีการแข็งตัวเต็มที่ ในขณะที่ถุงยางอนามัยสำหรับสตรีจะปกป้องพื้นผิวของช่องคลอด วัสดุที่ใช้สำหรับถุงยางอนามัย ได้แก่ ยางลาเท็กซ์หรือพลาสติกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โพลียูรีเทน
ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย
สำหรับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด โดยทั่วไปหากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 100 คน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันเป็นเวลา 1 ปี พบว่า 80-90 คน จะตั้งครรภ์ หากใช้ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษอย่างถูกต้องพบว่าเพียง 2 จาก 100 คน จะตั้งครรภ์ แต่หากใช้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 15 จาก 100 คน ในขณะที่ หากใช้ถุงยางอนามัยสำหรับสตรีอย่างถูกต้องประมาณ 5 จาก 100 คน จะตั้งครรภ์ แต่หากใช้ไม่สม่ำเสมอ จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่ามาก คือประมาณ 15-20 จาก 100 คน สำหรับถุงยางอนามัยที่ออกแบบเพื่อเพิ่มความสุขในขณะร่วมเพศ เช่น มีตัวตุ๊กตา รอยตะปุ่มตะป่ำขนาดใหญ่ พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นโรคที่ติดจากการสัมผัสหรือความใกล้ชิด เช่น โลน หิด เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เป็นต้น
อะไรทำให้ถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพลดน้อยลง
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงเมื่อมีการถูไถระหว่างอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงในช่วงเล้าโลมก่อนการสอดใส่ โดยพบว่าจะมีเชื้ออสุจิบางส่วนออกมาในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ การที่ถุงยางอนามัยแตก หลุด หรือเสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ การใช้สารหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันจะทำให้ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางลาเท็กซ์แตกง่าย สำหรับถุงยางอนามัยสำหรับสตรี พบว่าบ่อยครั้งที่การสอดใส่ของอวัยวะเพศชายเข้าไปนอกตัวถุงยาง หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ท่านควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
ข้อดีของถุงยางอนามัย
ใช้เมื่อมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น สามารถช่วยลดโอกาสการรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึง การติดเชื้อเอชไอวี และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ผลข้างเคียงจากการใช้น้อยมาก ใช้ง่ายและหาซื้อง่าย
ข้อเสียของถุงยางอนามัย
ลดการสัมผัสทางเพศลงเล็กน้อย ขัดจังหวะความต่อเนื่องของการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งในระหว่างการสวมใส่และหากมีการหลุดหรือแตก สตรีบางรายมีอาการแพ้ถุงยางอนามัยจนมีอาการตกขาวและแสบในช่องคลอด นอกจากนี้ ผู้ใช้จะต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องเคร่งครัดทุกขั้นตอน
ใครบ้างที่ใช้ถุงยางอนามัยไม่ได้
คนที่แพ้วัสดุที่ใช้ทำถุงยางอนามัย ผู้ชายที่องคชาตไม่แข็งตัวเต็มที่หรือแข็งตัวเต็มที่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ
จะเลือกใช้ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษหรือสำหรับสตรีดี
ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคู่ ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจาก จะต้องสอดใส่ถุงยางเข้าไปในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ลึกไปจนถึงปากมดลูก พบว่าถุงยางอนามัยนี้อาจไม่ได้แนบสนิทกับช่องคลอดเหมือนถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ทำให้เกิดเสียงเวลามีการเสียดสีและลดความรู้สึกทางเพศในฝ่ายหญิงได้
จะต้องใช้ยาฆ่าอสุจิร่วมด้วยหรือไม่
ไม่จำเป็น ถ้าใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ก่อนมีการสอดใส่ครั้งแรก ถุงยางอนามัย บางยี่ห้อมีการเคลือบยาฆ่าอสุจิอยู่แล้ว พบว่ามีผู้หญิงบางคนแพ้สารตัวนี้ และอาจทำให้เกิดรอยถลอกในช่องคลอด จนเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี และคลาไมเดียได้
จำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นร่วมด้วยหรือไม่
โดยทั่วไป ถุงยางอนามัยจะมีสารหล่อลื่นเคลือบอยู่แล้ว หากไม่ชอบกลิ่น สามารถเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่มีกลิ่นดัดแปลงที่หอมขึ้น บางคนนิยมใช้สารหล่อลื่นเพิ่มอีก เพราะในการมีเพศสัมพันธ์ปกติจะมีสารหล่อลื่นจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายออกมาในช่วงที่มีความตื่นตัวทางเพศ หากฝ่ายชายใส่ ถุงยางอนามัยแล้ว น้ำหล่อลื่นจากฝ่ายหญิงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ในกรณีที่ต้องใช้สารหล่อลื่น ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นชนิดละลายในน้ำมันกับถุงยางอนามัยที่ทำจากยางลาเท็กซ์ เพราะจะทำให้ถุงยางแตกง่าย สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จะต้องใช้สารหล่อลื่นเสมอ
วิธีการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ
ขั้นตอนแรก ท่านจะต้องเลือกซื้อให้เหมาะสมกับขนาดขององคชาต ในประเทศไทยมี 2 ขนาดคือ ครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงยาว 49 มม. และ52 มม. ขนาดใหญ่กว่าจะมีความยาวมากกว่า จากนั้นตรวจสอบวันหมดอายุและรอยฉีกขาดเดิม ไม่ควรใช้หากพบว่าซองฉีกขาด ใช้มือฉีกซองโดยไม่ควรใช้กรรไกรตัด
ถุงยางอนามัยมี 2 ด้าน ใช้ด้านที่มีขอบม้วนอยู่ด้านนอก โดยบีบกระเปาะส่วนปลาย ซึ่งมีหน้าที่เก็บกักน้ำอสุจิแล้วนำไปครอบบนองคชาตที่แข็งตัว จากนั้น ค่อยๆ รูดไปจนถึงโคน แล้วจึงสามารถเริ่มมีการสอดใส่ได้ ในกรณีที่ใส่ผิดด้าน จะทำให้ไม่สามารถรูดถุงยางอนามัยไปที่โคนองคชาตได้ ควรทิ้งถุงยางอนามัยนั้นไปเลย เพราะอาจมีเชื้ออสุจิบางส่วนติดที่ถุงยางอนามัยทำให้เกิดการตั้งครรภ์
หลังจากมีการหลั่งน้ำอสุจิออกไปแล้ว ควรเอาถุงยางออกทันทีและทิ้งในถังขยะ ไม่ควรทิ้งใส่ในชักโครก เพราะอาจทำให้ส้วมตัน การเอาถุงยางออกทำโดยค่อย ๆ ใช้กระดาษทิชชูรูดถุงยางอนามัยออกจากองคชาตและล้างอวัยวะเพศทันที และไม่นำอวัยวะเพศไปใกล้กับอวัยวะเพศของฝ่ายหญิง หากรอให้ องคชาตอ่อนตัวมากเกินไป จะทำให้น้ำอสุจิออกมาเลอะเทอะได้ และเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์
วิธีการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับสตรี
เช่นเดียวกับถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ คือ ใส่ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์เสมอ ตรวจสอบ วันหมดอายุและรอยฉีกขาดของซอง สามารถใส่ถุงยางอนามัยในขณะนอน นั่งยองๆ หรือยกขาวางบนเก้าอี้ข้างหนึ่ง จากนั้น จึงค่อยฉีกซอง (ห้ามใช้กรรไกรตัด) ถุงยางอนามัยสำหรับสตรีมีวงขอบพลาสติก 2 ด้าน เป็นวงเล็กและวงใหญ่ให้บีบวงเล็กและค่อยๆ สอดเข้าไปในช่องคลอด โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วกลาง แล้วใช้นิ้วกลางดันเข้าไปในช่องคลอดจนวงพลาสติกเล็กลงไปครอบบริเวณปากมดลูก หรือเข้าไปลึกสุดเท่าที่ทำได้ โดยในจังหวะนี้วงพลาสติกจะติดกับด้านในของกระดูกหัวเหน่า ส่วนมืออีกข้างใช้ในการช่วยแหวกแคมนอกและแคมในของอวัยวะเพศออกจากกัน ขอบพลาสติกด้านนอกจะเปิดบานออกที่ปากช่องคลอด ฝ่ายหญิงควรเป็นผู้จับองคชาตเข้าไปในถุงยางอย่างถูกต้อง การเอาถุงยางออก ทำโดยบิดวงพลาสติกด้านนอกออกในลักษณะเป็นเกลียวและดึงถุงยางออกอย่างช้าๆ เพื่อให้น้ำอสุจิยังคงอยู่ในถุง
การเก็บรักษาถุงยางอนามัยที่ใดจึงเหมาะสม
หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและความชื้นสูง
หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com