โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : การติดเชื้อคลาไมเดีย
โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ : การติดเชื้อคลาไมเดีย
อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
พยาบาลวิชาชีพ ขวัญจิตร เหล่าทอง
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การติดเชื้อคลาไมเดียเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย โดยพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะมีบุตรยาก, ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และการตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก เป็นต้น ดังนั้น จึงควรเข้าใจภาวะการติดเชื้อนี้ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที
เชื้อคลาไมเดียคืออะไร
เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั้งในน้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอดสตรี สามารถติดต่อและถ่ายทอดทางการมีเพศสัมพันธ์ได้มากเพราะอาการไม่ชัดเจน ดังนั้น การติดเชื้อนี้จึงไม่ได้ขึ้นกับจำนวนคู่นอน (มีคู่นอนเพียงคนเดียวก็สามารถติดเชื้อนี้ได้)
การติดเชื้อคลาไมเดีย เกิดขึ้นที่ใดได้บ้าง
ท่อปัสสาวะของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ปากมดลูก และช่องทวารหนัก ในบางครั้งสามารถติด ที่ช่องคลอดและเยื่อบุตาได้ สำหรับการติดเชื้อที่เยื่อบุตามักพบในเด็กทารกที่สัมผัสกับน้ำในช่องคลอด ของมารดาในช่วงการคลอดผ่านทางช่องคลอด นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์เสริมในการมีเพศสัมพันธ์ (sex toy) ร่วมกันกับผู้อื่นก็เป็นวิธีการถ่ายทอดเชื้อได้
อาการของการติดเชื้อคลาไมเดีย
เพียงร้อยละ 20-30 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อและร้อยละ 50 ของผู้ชายที่ติดเชื้อจะมีอาการ โดยจะเริ่มแสดงอาการหลังการได้รับเชื้อแล้ว ประมาณ 1-3 สัปดาห์
อาการของฝ่ายหญิง ได้แก่ เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน น้ำสีขุ่นจากท่อปัสสาวะเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ เป็นต้น
อาการของฝ่ายชาย ได้แก่ ปวดที่ถุงอัณฑะ ปวดท้องน้อย น้ำสีขุ่นจากท่อปัสสาวะ เป็นต้น อาการที่ทวารหนักมักไม่ชัดเจน ผู้ติดเชื้ออาจมีเพียงปวดหน่วงเล็กน้อย ส่วนการติดเชื้อที่ลำคอ มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด
ผลระยะยาวของการติดเชื้อคลาไมเดียในสตรี
หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดการทำลายอวัยวะในระบบสืบพันธุ์สตรีอย่างถาวร จนทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรังและการตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก ดังนั้นผู้ที่มีความสี่ยงในการได้รับเชื้อควรมารับการตรวจและการรักษา ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวสัมพันธ์กับจำนวนครั้งที่มีการติดเชื้อ การรักษาที่เร็วที่สุดจะให้ผลดีที่สุด การติดเชื้อคลาไมเดียจะไม่หายไปโดยไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้หากยังไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อจะแพร่กระจายต่อไปสู่ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อนี้มานานเท่าใด
บอกไม่ได้ เนื่องจากเชื้อนี้สามารถอยู่ในร่างกายโดยมีอาการเพียงเล็กน้อยได้ยาวนานถึง 1 ปี
จะทราบได้อย่างไรว่าการติดเชื้อทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากแล้ว
เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้มากขึ้นตามจำนวนครั้งที่ติดเชื้อและระยะเวลาที่ติดเชื้อ ท่านควรรับการรักษาทันทีที่ทราบผลการตรวจ สำหรับภาวะมีบุตรยากนั้น ท่านควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอก่อนเป็นเวลา 1 ปี
จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการติดเชื้อคลาไมเดียในระหว่างการตั้งครรภ์
การติดเชื้อนี้สัมพันธ์กับการแท้งและการคลอดก่อนกำหนดได้ และสามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารกในระหว่างการคลอดทางช่องคลอด ดังนั้นท่านจึงควรได้รับการรักษาทันทีเมื่อทราบผลการตรวจ โดยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยสำหรับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร
จะทราบได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อคลาไมเดีย
การวินิจฉัยทำโดยการตรวจสารน้ำในช่องคลอดของผู้หญิงหรือการตรวจปัสสาวะสำหรับผู้ชายและผู้หญิง หากท่านมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนัก ก็ควรได้รับการตรวจในตำแหน่งนั้นๆ ด้วย วิธีการตรวจในปัจจุบันเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อคลาไมเดียซึ่งมีราคาประมาณ 2,000 บาท
เมื่อท่านและคู่นอนมารับการตรวจพร้อมกัน และพบว่าผลการตรวจไม่เหมือนกัน เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเกิดจากปริมาณเชื้อในสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่เท่ากัน และระยะของโรคที่แตกต่างกัน
เมื่อทราบว่ามีการติดเชื้อคลาไมเดียจะมีการรักษาอย่างไร
การรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก โดยการตอบสนองได้ดีมาก โอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 95 ยาปฏิชีวนะนี้เป็นยารูปรับประทาน มีทั้งแบบรับประทานครั้งเดียวและรับประทานเป็นเวลา 7 วัน เมื่อได้รับยาแล้ว แพทย์จะทำการแนะนำผลข้างเคียงของยาและการตรวจติดตามโดยละเอียด
** หากได้รับการรักษาแล้วมีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามตัว คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด
ทำอย่างไรหากไม่สามารถนำคู่นอนทั้งหมดมารับการรักษาได้
ท่านสามารถแจ้งพยาบาลที่หน่วยฯ เพื่อช่วยประสานการแจ้งผลแก่คู่นอนของท่าน โดยขั้นตอนนี้ จะไม่มีการแจ้งชื่อ เป็นการใช้รหัสโรคและการรักษาเป็นลุ่มโรค ผู้ที่มารับการรักษาจะได้รับข้อมูลและความรู้ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
อาการต่างๆ จะดีขึ้นอย่างไรหลังการรักษา
หากตอบสนองต่อยาได้ดี อาการจะดีขึ้นค่อนข้างเร็ว ได้แก่ ตกขาวและปัสสาวะแสบขัดควรหายไปภายใน 1 สัปดาห์ เลือดออกกะปริบกะปรอยควรหายไปหลังรอบเดือนหน้า อาการปวดท้องน้อยจะดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นตามข้างต้น ท่านควรมาพบแพทย์อีกครั้ง
คำแนะนำในการดูแลตนเองอื่น ๆ
งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษา หากอาการแย่ลงท่านควรมาพบแพทย์ทันที เพราะการติดเชื้อนี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้
การตรวจหลังการรักษามีความจำเป็นหรือไม่
ไม่มีความจำเป็น แต่หากท่านมีภาวะต่อไปนี้ ท่านควรกลับมารับการตรวจอีกครั้ง ได้แก่
- ท่านสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อนี้อีก
- ท่านมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนมัยกับคู่นอนคนเดิมก่อนที่คู่นอนของท่านจะได้รับการรักษา
- ท่านได้รับยาปฏิชีวนะที่ประสิทธิภาพต่ำว่าร้อยละ 95 เนื่องจากท่านมีอาการแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อยาที่ดีกว่า
- ท่านรับประทานยาไม่ครบถ้วน
- อาการและอาการแสดงไม่ดีขึ้น
- ท่านมีอาการ แต่ผลการตรวจเป็นผลลบตั้งแต่เริ่มต้น
การติดเชื้อคลาไมเดียทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสองภาวะนี้
วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อคลาไมเดีย
-ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องทางอื่นๆ ได้แก่ ทางทวารหนัก หรือทางช่องปาก
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ (sex toy) ร่วมกับผู้อื่น
การดูแลตนเองเช่นนี้ จะช่วยให้ท่านลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ โรคหนองใน เชื้อเอชไอวี ได้อีกด้วย
การปฏิบัติและการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหายทั้งผู้ป่วยและคู่นอน ถ้าจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัย
- รับประทานยา หรือรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- ดูแลความสะอาดร่างกาย และความสะอาดของเสื้อผ้า ชุดชั้นใน ไม่ใส่ซ้ำ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
- มารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น จากอวัยวะสืบพันธุ์ ควรไปพบแพทย์ไม่ควรซื้อยา มารับประทานเอง
-หากคู่นอนมีอาการน่าสงสัย ควรแนะนำ พามาพบแพทย์ และใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
หมายเหตุ : เมื่อเกิดการติดเชื้อคลาไมเดียซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับคำปรึกษาเพื่อ รับการตรวจเลือดหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฝงในเลือดโดยไม่มีอาการอื่นๆ ได้แก่ โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคเอดส์หรือติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อดังกล่าวร่วมมาด้วย
หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com