การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่

การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่

อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ 

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่สามารถแบ่งตามช่วงเวลาที่ทำผ่าตัดได้เป็น

            1. ทำทันทีพร้อมการตัดเต้านม (Immediate breast reconstruction) ทำในการดมยาสลบผ่าตัดในครั้งเดียวกัน มีข้อดีมีการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวพร้อมกัน มักจะสามารถทำร่วมกับการตัดเต้านมแบบเก็บอนุรักษ์ผิวหนังบริเวณเต้านม อาจรวมทั้งหัวนมและลานหัวนมไว้ด้วยได้ การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่เมื่อทำทันทีพร้อมการตัดเต้านมมักได้ผลการรักษาที่สวยงามกว่า และผู้ป่วยจะมีความเครียดกังวลจากความสูญเสียเต้านมน้อยกว่า

            2. ทำภายหลังการตัดเต้านม (Delayed breast reconstruction) เว้นช่วงการผ่าตัดทำหลังจากการตัดเต้านม มักทำหลังจากได้รับการรักษาโรคของเต้านมเสร็จสิ้นแล้ว เช่นการได้รับรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด มักเว้นช่วงไปประมาณ 1-2 ปี โดยอาจมีข้อจำกัดบางประการในการผ่าตัด เนื่องจากผิวหนังของเต้านมบางส่วนได้ถูกตัดออกไปแล้ว

การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่สามารถแบ่งตามเทคนิคการผ่าตัดได้เป็น

            1. ใช้ถุงเต้านมเทียม (Tissue Expander – Prosthesis technique) ปัจจุบันถุงเต้านมเทียมมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดี ผลการศึกษามีความปลอดภัยในการใช้ในมนุษย์ โดยไม่ได้ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง หรือภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติแต่อย่างใด ข้อดีคือ ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดเพิ่มเติมจากส่วนอื่นของร่างกาย สามารถเปลี่ยนและเลือกขนาดรูปทรงให้เหมาะสมกับความต้องการได้ ใช้เวลาผ่าตัดสั้นกว่า และใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า อย่างไรก็ดีการใช้ถุงเต้านมเทียมต้องมีการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมแต่ละรายไป

            2. ใช้เนื้อเยื่อจากส่วนอื่นๆของร่างกาย (Autologous technique) เป็นการนำเนื้อจากส่วนอื่นของร่างกายผู้ป่วยเอง เช่นบริเวณหน้าท้อง แผ่นหลัง และ สะโพกเป็นต้น อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยบางรายอาจเหมาะสมในการใช้ทั้งสองเทคนิคประกอบกันทั้งใช้ถุงเต้านมเทียมและใช้เนื้อเยื่อจากส่วนอื่นๆของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีเทคนิคใหม่ๆในการดูดไขมันนำมาฉีดสร้างเสริมเต้านมใหม่ได้เช่นกัน

            ปัจจุบันการผ่าตัดเต้านมไม่ได้หมายถึงการสูญเสียรูปลักษณ์เต้านมอีกต่อไป สามารถทำได้ทั้งในผู้ที่ผ่าตัดลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม และการผ่าตัดนี้ยังสามารถทำได้อย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในบางรายเช่นกัน ยกตัวอย่างในนักแสดงรายนี้ มีอายุยังน้อยและสรีระร่างกาย มีความจำเป็นต่ออาชีพการงาน การที่เธอตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง จากการเปิดเผยของเธอว่าไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียความเป็นผู้หญิงแต่อย่างใด เนื่องจากการทำผ่าตัดนั้นทำร่วมไปกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่พร้อมๆกัน เรียกได้ว่าตัดเนื้อเต้านมที่มีความเสี่ยง และเสริมเต้านมใหม่ด้วยความปลอดภัย อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นนักแสดงท่านนี้ปรากฎต่อสื่อมวลชนพร้อมกับสรีระที่สวยงามอีกครั้ง

            การผ่าตัดเสริมเต้านมในผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเต้านมนั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ทำให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลดความสูญเสียเต้านม ลดอารมณ์สูญเสียความเป็นเพศหญิง ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และสามารถมีกำลังใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเข้าสู่สังคมปกติได้

            ผู้ที่จำเป็นต้องตัดเต้านมทุกรายควรมีสิทธิในการได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่ และสามารถตัดสินใจในการเลือกวิธีการผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาเช่นกัน

References.
Petit JY, Rietjens M, Lohsiriwat V, et al. Update on breast reconstruction techniques and indications. World J Surg. 2012 Jul;36(7):1486-97.
Petit JY, Veronesi U, Lohsiriwat V, et al.  Nipple-sparing mastectomy--is it worth the risk? Nat Rev Clin Oncol. 2011 Oct 25;8(12):742-7.
Lohsiriwat V, Petit JY. Nipple Sparing Mastectomy: from prophylactic to therapeutic standard. Gland Surgery. 2012 Aug;1(2):75-79.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด