การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม

การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม

ผศ.ดร.นพ.สืบวงศ์  จุฑาภิสิทธิ์

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

สรุปใจความสำคัญในบทความ

1.      การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม เป็นการผ่าตัดเต้านมออกข้างเดียวหรือสองข้างในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูง

2.      การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม สามารถช่วยให้ผู้หญิงคนนั้นลดโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากกกว่า 90% แต่ไม่สามารถทำให้ยืนยันได้ว่าผู้หญิงคนนั้นจะไม่เป็นมะเร็งเต้านมเลย

3.      การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม มีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย จะต้องมีการชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วนก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะ การผ่าตัดไม่ใช่วิธีเดียวในการการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม

4.      หลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมให้ใหม่ได้ทันที

 

คำถามที่ 1: การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม หมายถึงอะไร
         
การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม คือ การผ่าตัดเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เป็นที่รู้กันแล้วว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า มีผู้หญิงอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูง ดังนั้น การผ่าตัดเต้านมออกข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ การผ่าตัดเต้านมออกสามารถทำได้โดยการตัดเนื้อส่วนที่เป็นเนื้อนมออก อาจจะตัดผิวหนัง หรือ หัวนม ออกด้วยหรือไม่ก็ได้

คำถามที่
2: การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ได้ผลดีแค่ไหน ถ้าผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นมะเร็งเต้านมอีกเลยหรือ
         
การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม สามารถทำให้ผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้มากกว่า 90% แต่การผ่าตัดเต้านมออกแล้วไม่ได้เป็นการยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผู้หญิงคนนั้นจะไม่เป็นมะเร็งเต้านมอีก เพราะ เป็นไปได้ที่จะเกิดมะเร็งเต้านมบริเวณผิวหนังที่ผ่าตัด ที่ผนังหน้าอก หรือ ที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือ ที่ต่อมน้ำเหลืองเหนือหรือใต้ต่อกระดูกไหปลาร้าก็ได้

คำถามที่ 3: ศัลยแพทย์พิจารณาอย่างไรว่า ผู้หญิงคนไหนที่ควรได้รับการผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม
         
ศัลยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมให้กับเฉพาะผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงบางคนเท่านั้น ซึ่งในเมืองไทยเอง ผู้หญิงกลุ่มนี้มีไม่มากนัก และจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจทุกระบบอย่างถี่ถ้วนก่อน ผู้หญิงกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงนี้ ได้แก่
          -
ผู้หญิงที่มีประวัติพี่ น้อง แม่ ยาย ย่า เป็นมะเร็งเต้านมหลายๆ คน
(โดยทั่วไปแล้ว คือ มากกว่าหรือเท่ากับสองคนขึ้นไป)
          -
ผู้หญิงที่ได้รับการตรวจสารพันธุกรรมแล้ว พบว่า มีความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า บีอาร์ซีเอ หนึ่ง หรือ บีอาร์ซีเอ สอง
          -
ผู้หญิงที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม แล้วหนึ่งข้าง
          -
ผู้หญิงที่มีความผิดปกติทางเซล หรือ เนื้อเยื่อที่เต้านม ที่บ่งชี้ว่า เซล หรือ เนื้อเยื่อที่ผิดปกตินั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต
         
โดยที่แพทย์จะไม่ใช้ข้อบ่งชี้ข้อใด ข้อหนึ่ง ข้างต้นมาตัดสินใจเพื่อทำการผ่าตัด การตัดสินใจที่จะเสนอการผ่าตัดเต้านมออกเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม มักจะใช้หลายๆ ข้อมาประกอบกัน

คำถามที่ 4: การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม มีแต่ข้อดีหรือ แล้วมีข้อเสียหรือไม่ อย่างไร
         
การผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ไม่ใช่จะมีแต่ข้อดีเสมอไป ข้อเสียของการผ่าตัด มีทั้งข้อเสียในระยะสั้น และ ระยะยาว
ข้อเสียระยะสั้น คือ
          -
การเสียเลือด เลือดออก ทั้งในระหว่างการผ่าตัด และ หลังผ่าตัด
          -
การเกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดได้ถึงแม้จะมีการระวังอย่างดีแล้วก็ตาม
          -
การเกิดแผลเป็นบริเวณแผลที่ผ่าตัด และการเกิดรอยเย็บบริเวณเต้านม
ข้อเสียระยะยาว คือ
          -
การสูญเสียเต้านมอย่างถาวร ซึ่งไม่สามารถเอาเต้านมเดิมกลับคืนมาได้ และจะมีผลทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งสูญเสียความมั่นใจ
          -
การผ่าตัดเต้านมออก ทำให้ผู้หญิง ไม่สามารถให้นมบุตรได้อีก แม้จะมีการเสริมสร้างเต้านมใหม่ แต่เต้านมใหม่ก็จะไม่สามารถผลิตน้ำนมได้
          -
การผ่าตัดเต้านมออกเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมออกแล้ว ยังคงมีโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมอยู่บ้าง

คำถามที่ 5: หากผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม ไม่ต้องการตัดเต้านมออก จะมีวิธีการป้องกันมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอื่นอีกหรือไม่
         
เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่สำคัญมากกับผู้หญิง นั่นคือ เป็นอวัยวะที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิง ดังนั้นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งข้าง หรือ ทั้งสองข้างในผู้หญิงจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และจะทำเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านมเท่านั้น และ ไม่จำเป็นต้องทำทุกรายในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เพราะ จริงๆแล้ว ยังมีวิธีการอื่นอีกที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ยังเริ่มต้นอยู่ ซึ่งผลการรักษาก็ได้ผลดีมาก

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด